7 เดือนแรก อุตสาหกรรม
ประกันภัยรถยนต์เติบโตได้เพียง 1.17% ด้วยเบี้ยประกันภัย 118,439 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากการประกันภัยที่เป็นหลัก 2 กลุ่มคือ
ประกันภัยรถยนต์และประกันอัคคีภัยที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 64% ของทั้งระบบติดลบโดย
ประกันรถยนต์ติดลบ 0.24% โดยมีเบี้ยประกันภัย 69,456 ล้านบาท ประกันอัคคีภัยติดลบ 2.67% เบี้ยประกันภัย 6,677 ล้านบาท แม้ประกันภัยประเภทอื่นจะขยายตัวไม่ว่าจะเป็นประกันภัยทางทะลและขนส่ง(มารีน) เติบโตเพิ่มขึ้น 0.14% เบี้ยประกันภัย 3,125 ล้านบาท และประกันภัยเบ็ดเตล็ดเติบโตเพิ่มขึ้น 4.57% เบี้ยประกันภัย 39,091 ล้านบาท แต่เป็นอัตราที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“ปี 2555 เราโตสูงมากถึง 28% และปี 2556 ยังโต 13.12% เนื่องจากนโยบายรถคันแรกและเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากหลังน้ำท่วม ขณะที่ครึ่งแรกปีก่อนยังโต 20% ซึ่งสูงมากจึงไม่แปลกที่ 7 เดือนแรกปีนี้ เราจะโตได้แค่ 1.17% โดย 6 เดือนเราก็โตได้แค่ 1.05% ซึ่งประกันรถยนต์ที่ลดลงเนื่องจากยอดขายรถยนต์ลดลงถึง 40.5% ขณะที่ประกันอัคคีภัยมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหดตัว” “อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว
+ หวัง “รถ-สุขภาพ-ไอเออาร์”
+ ดันทั้งปีโตเข้าเป้า 5.9%
อย่างไรก็ดี นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยยังมองแง่ดีถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2557 คาดว่าจะเติบโตราว 3-5.9% เบี้ยประกันภัย 210,000-215,000 ล้านบาท หรือ 2 เท่าของจีดีพีซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1.5-2% โดยครึ่งปีหลังประกันรถยนต์น่าจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรกตามตลาดรถยนต์ซึ่งโตโยต้า คาดว่าจะติดลบน้อยลงด้วยยอดขายรวม 920,000 คัน ลดลง 30.9% จึงคาดว่าทั้งปีประกันรถยนต์น่าจะเติบโตได้เกือบ 10% โดยประกันรถยนต์ 80-90% เป็นเบี้ยประกันจากการต่ออายุของลูกค้าเก่าขณะที่ลูกค้าใหม่มีแค่ 10% ซึ่งการต่ออายุผ่านตัวแทน นายหน้า 80-85% ไฟแนนซ์ 50%
นอกจากนี้ ยังคาดว่าประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหากสามารถเจาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นได้โดยทั้ง 2 ประเภทเป็นความหวังของธุรกิจโดยเฉพาะประกันสุขภาพซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 21.78% สูงสุดของทั้งระบบด้วยเบี้ยประกันภัยรับ 4,509 ล้านบาท ขณะที่ประกันอุบัติเหตุเติบโตเพิ่มขึ้น 5.49% รวมไปถึงประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 3.29% น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
สำหรับช่องทางจำหน่ายหลักยังคงเป็นตัวแทนและนายหน้ามีสัดส่วนรวมกันถึง 71.7% แต่ช่องทางที่กำลังมาแรง คือการขายผ่านอินเตอร์เน็ตที่เติบโตถึง 867% เบี้ยประกันภัย 1,274 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 1.25% ขณะที่อัตราสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ทั้งระบบอยู่ที่ 50-53% ไม่สูงมาก
“ครึ่งหลังเราฝากความหวังไว้ 3 ตัวหลักๆ คือรถยนต์ สุขภาพและไอเออาร์ ประกันรถยนต์น่าจะเป็นบวกได้ ส่วนอัคคีภัยน่าจะติดลบอยู่ ครึ่งหลังบริษัทประกันจะมีแคมเปญใหม่ๆ ออกมากระตุ้นยอดขายเยอะคาดว่าเราจะโตถึง 5.9% แม้เบี้ยจะโตไม่เยอะเหมือนปีก่อนแต่บริษัทประกันจะมีกำไรเยอะกว่า ส่วนน้ำท่วมไม่น่ากลัว”
+ อีก 10 ปี “สุขภาพ” ยึดบัลลังก์แทนรถ
+ คาดปี’58 เบี้ยวินาศภัยโต 12%
สำหรับประกันสุขภาพ “อานนท์” กล่าวว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวสูงมากใน 10 ปีข้างหน้าเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งประเทศ ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าคือจาก 9 ล้านคนในปี 2557 เพิ่มเป็น 17 ล้านคนในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าโดยมีสัดส่วนถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ
ขณะที่อัตราการป่วยของ คนไทยด้วยโรคสำคัญ 4 โรคคือ มะเร็ง, หัวใจ, เบาหวานและความดันโลหิตมีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก 400 คนต่อประชากร 100,000 คนเพิ่มเป็น 1,200 คน ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 85,947 บาทต่อคนเพิ่มเป็น 174,319 บาทในปี2556 ขณะที่รัฐบาลแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลไม่ไหว ซึ่งในโครงสร้างหลักประกันสุขภาพของประชาชนในปี 2555 เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลดูแลอยู่ถึง 74% ขณะที่ระบบประกันสุขภาพของเอกชนรวมประกันภัยแม้จะมีสัดส่วนเพียง 5.3% เท่านั้น แต่ก็เพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็นแนวโน้มประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ประกันสุขภาพมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยแค่ 3% รวมประกันอุบัติเหตุแค่ 5-6% เท่านั้น ขณะที่
ประกันรถยนต์มีสัดส่วนถึง 58% เทียบกับยุโรปประกันภัยสุขภาพ มีสัดส่วน 25% รถยนต์มีสัดส่วนแค่ 30% ประเทศไทยจะมีแนวโน้มเดียวกันซึ่งในอีก 10-15 ปีข้างหน้าประกันสุขภาพจะมีสัดส่วน เพิ่มเป็น 15-20% กินส่วนของประกันรถยนต์
“เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้นจะเริ่มสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือการซื้อประกัน อีกทั้งรัฐอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ประกันสุขภาพเป็นความหวังในอีก 10 ปีข้างหน้า ประกันรถยนต์โตกว่านี้ยากหากรถไฟฟ้า 10 สายเสร็จความจำเป็นในการใช้รถยนต์น้อยลงเป็นเทรนด์ของโลกรถไม่ใช่ตลาดที่จะขยายได้”
“อานนท์” ยังกล่าวว่า ในปีนี้ไม่ได้ตั้งเป้าจะมีเบี้ยประกันใหม่จากโครงการของภาครัฐอาจจะมีเข้ามาบ้างแต่น้อยมากส่วนใหญ่ จะเข้ามาในปี 2558 ซึ่งคาดว่าเบี้ยประกันจะเติบโตถึง 12% กฎอัยการศึกน่าจะถูกยกเลิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น