ตลาด
ประกันภัยรถยนต์ คึกคัก ค่ายประกันวินาศภัยทยอยออกสินค้าใหม่มา กระตุ้นตลาด เน้นไปที่ความคุ้มครองใหม่ๆ ที่คู่แข่งยังน้อย
รวมทั้งแบบประกันใหม่ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้
+ “เมืองไทย” ลุย
รถยนต์+ ชู GAP Insurance/ประกันจักรยาน
หนึ่งในแบบประกันที่มาแรง และเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตา คือ กรมธรรม์
ประกันภัยส่วนต่างมูลค่ารถยนต์ หรือ GAP Insurance
(GAP : Guaranteed Auto Protection) โดย “นวลพรรณ ล่ำ-ซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.เมืองไทยประกันภัย เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทเน้นขยาย
ประกันรถยนต์ผ่านทุกช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงได้ครบ
เช่น แบบประกันส่วนต่างมูลค่ารถยนต์ มุ่งทำตลาดผ่านลีสซิ่ง ไฟแนนซ์ ที่ปล่อยสินเชื่อรถ ซึ่งปกติประกันภัยจะคุ้มครอง 80%
ของมูลค่ารถยนต์อีก 20% ไม่คุ้มครอง ทำให้ผู้ปล่อยสินเชื่อจะมีความเสี่ยงหากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss)
หรือรถหาย ไฟไหม้ ขณะที่ลูกค้าเองก็มีความเสี่ยงด้วย ดังนั้นบริษัทจะเข้าไปให้ความคุ้มครองส่วนต่าง 20% นี้ให้
ซึ่ง
เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่กี่ร้อยบาท น่าจะเริ่มต้น 300 บาท รับรถใหม่ป้ายแดง
“เราขายมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกัน 1 ปี 150-200 ล้านบาท แนวโน้มพบว่ามีโอกาสที่จะขยายตัว
บริษัทประกันที่ขายอยู่ยังไม่เยอะ มีช่องว่างที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก โดยกลุ่มเป้าหมายจะเสนอผ่านพันธมิตรรถยนต์
ลีสซิ่งต่างๆ มีมูลค่าหลายพันล้านบาท จะให้ลีสซิ่งนำเสนอแบบประกันให้กับลูกค้า”
นอกจากนี้ ยังมีแบบประกันใหม่ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ อย่างประกันภัยจักรยาน คุ้มครองตัวรถจักรยาน กรณีสูญหาย
และเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) และยังพ่วงประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) คุ้มครองตัวผู้ขับขี่ด้วย อัตราเบี้ยจะอยู่ที่ 3-10%
ของราคาจักรยาน ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึง 1 แสนบาท คาดว่าจะ ออกขายในไตรมาสสี่ปีนี้ ตั้งเป้ายอดขายไว้ 1 ปี 10 ล้านบาท
หรือประมาณ 2,000 คัน
“เราจะเริ่มจากจักรยานมือหนึ่งก่อน เพราะมือสองยังไม่มีแหล่งราคากลางที่ใช้อ้างอิง ทำให้ตีราคาได้ยาก เบื้องต้นจะขายผ่านตัวแทน
และให้ลูกค้าซื้อตรงกับบริษัทส่วนดีลเลอร์มีการพูดคุยกันอยู่ แต่ติดปัญหาเขาอยากให้รับประกันทุนสูง เช่น 80% ของราคารถ
แต่เรารับประกันแค่ 70% ของราคารถ เพราะยังมีความคุ้มครองส่วนของพีเอด้วย”
ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเน้นการขายผลิต-ภัณฑ์พิเศษ เช่น การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า หรือเทรดเครดิต (Trade Credit Insurance)
การประกันภัยความรับผิดเนื่องมาจากสินค้าไม่ปลอดภัย (Product Liability) การประกันภัยความรับผิดของผู้บริหาร (D&O) เป็นต้น
รวมทั้งเน้นการขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์มากขึ้น เช่น กับพันธมิตรหลักธนาคารกสิกรไทยก็จะมีแบบประกันพีเอ
และแบบประกันรถยนต์ใหม่ๆ เข้าไปเสริมรวมถึงเข้าไปให้ความรู้เรื่องประกันกับพนักงานขายของแบงก์มากขึ้น
“นวลพรรณ” กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าหมายจะก้าวเข้าสู่การมีเบี้ยประกันหลักหมื่นล้านบาทด้วยเบี้ยรับรวม 10,350 ล้านบาท
ซึ่งครึ่งปีแรกสามารถก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ของอุตสาหกรรมจากเดิมอยู่อันดับ 5 ได้ ด้วยเบี้ยรับรวม 4,763 ล้านบาท เติบโต 15.3%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 474 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดนับแต่ควบกิจการ ถือว่าโตได้ใกล้เคียงเป้า 15-16%
ที่วางไว้ โดย ที่สัดส่วนมอเตอร์ และนอนมอเตอร์ยังเป็น 50:50 แต่อันดับขึ้นลงง่าย ต้องพยายามรักษาอันดับ ซึ่งบริษัทปรับโครงสร้างหลายอย่าง
เช่น ประกันภัยต่อระมัดระวังในการคัดเลือกผู้รับประกันต่อ (รีอินชัวเรอส์) มากขึ้น หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมมี รีฯหลายรายได้รับผล กระทบ
จึงวางโครงสร้างใหม่เลือกรีฯที่มีฐานะมั่นคง มีเครดิตดี รองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
สำหรับครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตทุกช่องทาง โดยประกันภัยรถยนต์เน้นราคาแข่งขันได้กับคู่แข่งในระดับเดียวกันควบคู่กับบริการรองรับ
การเติบโตในระยะยาว
“ปีนี้แม้จีดีพีจะเติบโตลดลง แต่มีเรื่องท้าทายที่ทำให้ธุรกิจประกันโตสวนกระแสจีดีพีได้ ทั้งประชาชนหันมาให้ความสำคัญมอง
ประกันเป็นปัจจัยที่ 5 เช่น หลังเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย ประชาชนตื่นตัวทำประกันภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจประกันใน
ภาพรวมขยายตัวได้จากครึ่งแรกเติบโตเพียง 1% คาดว่าครึ่งปีหลังจะเติบโต 4-5%”
+ “ฟอลคอน-แอกซ่า-ทิพย” แข่งขาย GAP
+ “ธนชาต” อัดชั้น 1/“อาคเนย์” ลุยพลัส
นอกจากเมืองไทยประกันภัยแล้ว “สยามธุรกิจ” พบว่า หลายบริษัทเริ่มขยับมาขายประกันภัยคุ้มครองส่วนต่างมูลค่ารถยนต์ อาทิ
บมจ.ฟอลคอนประกันภัยที่จับมือกับบริษัท แม็กซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ในเครือมาสเตอร์ กรุ๊ป (เอเชีย) จำกัด
ผู้จำหน่ายรถยนต์ BMW และมินิ สมมติรถราคา 2.5 ล้านบาท บริษัทประกันรับทุนประกัน 2 ล้านบาทอีก 5 แสนบาท
ที่จะซื้อประกันส่วนต่างจะจ่ายเบี้ยเพิ่มอีกประมาณ 20,000 กว่าบาท โดยเบี้ยประกันจะบวกเข้าไปในสินเชื่อ, บมจ.ทิพยประกันภัย,
บมจ.แอกซ่าประกันภัย เป็นต้น
ส่วนประกันชั้น 1 ราคาประหยัดก็มีออกมา เช่น บมจ.ธนชาตประกันภัย ออกแคมเปญประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 ราคาสุดคุ้มแห่งปี
แบ่งเป็นอัตราค่าเบี้ยประกัน 13,000 บาท สำหรับโตโยต้า วีออส/โตโยต้า วีโก้/อีซูซุ ดีแมคซ์, เบี้ยประกัน 17,999 บาท
สำหรับโตโยต้า คัมรี่/นิสสัน เทียน่า/โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์/อีซูซุ มิวเซเว่น, เบี้ยประกัน 36,999 บาท สำหรับ เบนซ์ ซี-คลาส 4 ประตู
และเบี้ยประกัน 42,999 บาท สำหรับเบนซ์ อี-คลาส 4 ประตู โดยรับประกันรถที่มีอายุตั้งแต่ 3-7 ปี (ปี 2551-2555)
ให้บริการซ่อมกับอู่มาตรฐานในเครือธนชาตที่มีให้บริการกว่า 360 อู่รถยนต์ทั่วประเทศ
ขณะที่กรมธรรม์ 2 พลัส และ 3 พลัส ก็ยังมีออกมาขายต่อเนื่อง เช่น บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เปิดตัว “มอเตอร์เอ็กซ์ตร้า”
แพ็กเกจประกันภัยรถยนต์ 2 พลัส และ 3 พลัส ที่เสริมความคุ้มครองน้ำท่วม และของหาย ราคาเริ่มต้นเพียง 7,100 บาท
ประกอบด้วย “มอเตอร์เอ็กซ์ตร้า ชุดพรีเมี่ยม” เพิ่มความคุ้มครองน้ำท่วมไม่เกิน 100,000 บาท และ “มอเตอร์เอ็กซ์ตร้า ชุดสุดคุ้ม”
เพิ่มความคุ้มครองน้ำท่วมไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งทั้ง 2 แพ็กเกจยังรวมความคุ้มครองโจรกรรมทรัพย์สินในรถไม่เกิน 10,000 บาทให้อีกด้วย
ขอบคุณที่มา siamturakij.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น