ประวัติศาสตร์ การเกิด ประกันภัยรถยนต์ ในประเทศไทย (ตอน2) :ASN Broker #ประกันรถยนต์ #ประกันรถเก๋ง #ต่อประกันรถยนต์
การควบคุมกิจการ ประกันภัย โดยรัฐ
เนื่องจากการดำเนินงานในการรับประกันภัยเป็นกิจการที่กว้างขวางต้องใช้เงินทุนมากและโดยที่กิจการประกันภัยต้องเกี่ยวข้องอยู่กับประชาชนเป็นจำนวนมาก หากผู้รับประกันภัยดำเนินงานไม่ได้ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนผู้เอาประกันไว้ต้องเสียหายเดือดร้อน และเป็นผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมอีกด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเมื่อคราวที่บริษัทนครหลวงประกันชีวิต จำกัด ถูกกระทรวงเศรษฐการสั่งถอนใบอนุญาตเมื่อปี พ . ศ . 2507 และต่อมาก็ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ปรากฎว่ามีเจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ถึง 8 , 590 ราย เป็นจำนวนหนี้ถึง 75 ล้านบาทเศษ ส่วนบริษัทบูรพาประกันชีวิต จำกัด ซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เมื่อปี พ . ศ . 2512 ก็มีเจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ถึง 5 , 458 ราย เป็นจำนวนหนี้ 65 ล้านบาทเศษ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ด้วยเหตุนี้ประเทศต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานประกันภัยจึงได้เข้าควบคุมสอดส่องผู้รับประกันภัยอย่างใกล้ชิดโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้รับประกันภัยได้ดำเนินกิจการไปด้วยดี มีหลักฐานทางการเงินมั่นคงสามารถให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ และให้ผู้รับประกันภัยได้ปฏิบัติต่อผู้เอาประกันภัยด้วยความเป็นธรรม
การควบคุมกิจการประกันภัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกิจการประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยมาตรการกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ . ศ . 2471 ขึ้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2471 ปรากฏเหตุผลที่ออกกฎหมายฉบับนี้ว่า “ โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พาณิชย์และอุตสาหกรรมของประเทศได้วิวัฒนาการถึงซึ่งความจำเป็นที่จะต้องกำหนดการควบคุมกิจการค้าทั้งหลายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน เพื่อคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของพสกนิกรให้เป็นที่เรียบร้อยสืบไป ” และจำนวนกิจการค้าขายหลายอย่างที่กระทบถึงความปลอดภัย หรือผาสุกแห่งสาธารณชนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็มีประกันภัยรวมอยู่ด้วยดังปรากฏตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า :
มาตรา 7 ห้ามมิให้บุคคลผู้ใดประกอบกิจการประกัน ฯลฯ หรือกิจการอื่น อันมีสภาพคล้ายคลึงกันในกรุงสยาม เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะการนั้นในเวลาที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะการ ห้ามมิให้ประกอบกิจการค้าขายดังกล่าวนั้นในกรุงสยาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทางเสนาบดีเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ”
- และบทบัญญัติมาตรา 8 ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ละเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติด้วย
หลังจากมีพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนออกประกาศใช้แล้ว บริษัทประกันภัยที่จะประกอบกิจการได้ต้องได้รับอนุญาตจากระทรวงพาณิชย์และคมนาคมก่อน แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตปรกอบธุรกิจประกันภัย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ . ศ . 2472 กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ประกาศกำหนดเงื่อนไขการขอรับอนุญาตประกอบธรุกิจประกันภัยทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย(ประกันภัยรถยนต์) เงื่อนไขทั้งสองฉบับได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ เพราะบริษัทที่ขออนุญาตประกอบการประกันภัยในระยะแรกนี้เป็นบริษัทประกันภัยต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนการประกันภัยประเภทอื่น นอกจากสองประเภทดังกล่าวก็ยังไม่มีเงื่อนไขควบคุม แต่ก็จะต้องปฏิบัติการบางประการตามที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมกำหนดไว้
สำหรับเงื่อนไขดังกล่าวแล้วซึ่งกำหนดไว้ในชั้นแรกนี้ มีข้อความไว้เพียงว่าบริษัทประกันกันต้องมีทุนชำระแล้วอย่างน้อย 2 แสนบาท ต้องฝากหลักทรัพย์ไว้กับรัฐบาลไทยหรือสถานทูตไทยในต่างประเทศ ต้องพิมพ์โฆษณาฐานะการเงินของบริษัทในหนังสือพิมพ์เป็นประจำปี และกำหนดให้ส่งรายงานแสดงกิจการประจำปีและรายงานแสดงทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นก้าวแรกของการเริ่มงานควบคุมบริษัทประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
ต่อมาได้มีประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พ . ศ . 2472 ระบุให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการอันเกี่ยวกับการประกันภัย ผู้ใดจะเริ่มประกอบกิจการประกันภัยจำเป็นต้องขอรับอนุญาตก่อน และบุคคลที่ประกอบกิจการประกันภัยอยู่แล้วในวันที่ใช้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ . พ . 2471 ต้องขอรับอนุญาตภายในวันที่ 13 ตุลาคม พ . ศ . 2472 เป็นอันว่าผู้ประกอบกิจการประกันภัยจะต้องจดทะเบียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองประกันภัย ซึ่งตั้งขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ . ศ . 2472 สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
การกำหนดเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัยขึ้นนั้นก็เพราะทางการประสงค์จะให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้เอาประกันและทราบถึงฐานะการเงินของบริษัทว่ามีความมั่นคงเพียงใดโดยกำหนดให้บริษัทประกันอัคคีภัยต้องมีหลักทรัพย์ประกันฝากไว้ต่อทางการเป็นจำนวนหนึ่งแสนบาท และบริษัทรับประกันชีวิตต้องฝากหลักทรัพย์ไว้ต่อทางการเมื่อเริ่มประกอบการประกันชีวิตจำนวนห้าหมื่นบาท และจะต้องฝากเพิ่มขึ้นจากจำนวนหนึ่งในสามของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับทุกปี บริษัทที่ประกอบกิจการนอกเหนือจากกิจการประกันภัยดังกล่าวทั้งสองประเภทนี้ ไม่ต้องฝากหลักทรัพย์ประกัน
- มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า ในระหว่างการประชุมร่างเงื่อนไขควบคุมกิจการประกันภัย พ . ศ . 2472 นั้น ได้มีบริษัทประกันภัยยื่นความจำนงขอประกอบกิจการประกันภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 286 ราย แยกประเภทได้เป็น
ประกันอัคคีภัย 74 ราย- ประกันชีวิต 6 ราย
- ประกันภัยทางทะเล 177 ราย
- ประกันภัยรถยนต์ 15 ราย
- ประกันอันตรายทั่วไป 3 ราย
- ประกันภัยโจรกรรม 2 ราย
- ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 9 ราย
และทั้ง 286 รายนี้ได้รับอนุญาตชั่วคราวให้ทำการประกันภัยได้
บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันภัยเป็นอันดับแรกตามประเภทของ กิจการประกันภัยมีดังนี้
- บริษัทโตเกียวมารีนแอนด์ไฟร์อินชัวรันส์ จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น ได้รับอนุญาตประกอบกิจการประกันอัคคีภัยในวันที่ 4 เมษายน พ . ศ . 2472 โดยมีบริษัทมิตซุยบุซันไกซาเป็นตัวแทนในประเทศไทย
- บริษัทเตียอันเป๋าเฮี่ยม จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ประกอบการประกันภัยทางทะเลในวันที่ 27 มกราคม พ . ศ . 2472
- บริษัทขอเตอร์ยูเนียนอินชัวรันส์ จำกัด สัญชาติอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันอุบัติเหตุในวันที่ 18 เมษายน พ . ศ . 2473 โดยมีบริษัทโซม์แอนด์คอมปานีเป็นตัวแทนในประเทศไทย
*หมายเหตุ ภาพที่ใช้ประกอบเนื้อหา ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับเนื้อ เป็นเพียงแหล่งอ้างอิงถึงยุคสมัยนั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น