วิธีดูรถมือสอง
รถเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ทุกคน ใฝ่ฝันที่จะมีรถยนต์เป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถมือสอง ยิ่งในยุคนี้ผู้อ่านคงจะทราบว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำผู้คนรายได้น้อยลงแต่ราคารถใหม่สูงขึ้น รถมือสอง หรือรถใช้แล้ว จึงเป็นทางเลือกของความต้องการที่มากขึ้น เราจึงนำเสนอ ข้อคิดของ N.K.CAR PLAZA มาเป็นแนวทางในการเลือกซื้อรถมือสองให้กับผู้อ่านเพื่อป้องกันความผิดหวัง
ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อรถมือสองนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด รายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ต้องพิจารณาร่วมไปกับการดูรถ เพื่อความไม่ประมาทควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของรถที่ท่านจะซื้อเพื่อพิจาณาถึงข้อดีและข้อเสียของรถและสิ่งที่ควรคำนึงถึงในเบื้องแรกคือ เรื่องของราคาอะไหล่ว่าแพงไหน อะไหล่หายากหรือไม่ รถที่จะซื้อเป็นรถ ที่นิยมของตลาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นแนวทางแรกก่อนที่จะเข้าสู่วิธีการซื้อรถด้วยการตรวจเช็ก อย่างละเอียดต่อไป
ธุรกิจรถมือสองในบ้านเราในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของปีละประมาณ 700,000-800,000 กว่าคัน และเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเลือกซื้อรถมือสอง ส่วนใหญ่อยู่ที่ราคาที่ตั้งกันไว้ในตลาดซึ่งจะเป็นราคาที่ผู้ขาย (เต็นท์รถ) ตั้งเอาไว้ซึ่งรวมราคาค่าซ่อมแซม ค่าลงทุนในการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ทันทีราคาจึงอาจสูงอยู่บ้าง แต่อาจไม่บานปลายหากผู้ขายมีความรับผิดชอบที่ดี
อย่างไรก็ดี ผู้ค้ารถมือสองที่มีความซื่อสัตย์ และมีจรรยาบรรณในอาชีพก็มีอยู่บ้าง ในมุมมองของผู้บริโภคแล้ววิธีการในการลดความเสี่ยงจากการซื้อรถมีหนทางในการตรวจเช็กที่ไม่ยากนัก เพียงท่านปฏิบัติตามกฎกติกาที่เราได้รับคำแนะนำจาก N.K.CAR PLAZA ผู้มีประสบการณ์การในการดูรถมือสองมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี มาใช้ในการคัดเลือกซื้อรถมือสอง โอกาสได้รถดีมีคุณภาพสูง
ดังนั้นข้อเสนอต่อไปนี้เป็นบรรทัดฐานในการดูรถก่อนตัดสินใจ และทดสอบรถคันที่ท่านจะซื้อ ประสบการณ์นั้นไม่จำเป็น ถ้าใช้ความรอบ คอบและใจเย็นในการตรวจเช็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุร้ายแรงมาก่อนหน้านี้ ถ้าหากว่าเจ้าของรถซ่อมแซมรถแค่ให้ใช้งานได้เพื่อเอาไว้ขายต่อ ร่องรอยต่างๆ จะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าซ่อมกันจริงๆ แล้วราคาค่าซ่อมจะสูงมาก แต่สมัยนี้มีอู่คุณภาพดี ๆ ที่สามารถซ่อมงานที่เสียหายมากๆ ให้ดูดีเหมือนปกติ ด้วยการเปลี่ยนชิ้นส่วนและขั้นตอนการซ่อมที่พิถีพิถัน การตรวจเช็กในบางทีก็อาจจะดูไม่ออกเหมือนกัน
สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนเป็นอย่างดีอีกข้อก็คือ เอกสารจากเจ้าของมีพิรุธหรือไม่ตรงกัน หรือหากมีการแก้ใข ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ถ้าพบข้อสงสัยมากมายในการเรื่องเอกสาร เราขอแนะนำว่าท่านควรเลี่ยงซื้อรถคันดังกล่าว เพราะปัญหาที่มีอยู่ในรถจะเป็นอะไรที่ตัวแทนจำหน่ายจะไม่ยอมรับผิดชอบหลังจากที่ท่านตัดสินใจซื้อไปแล้ว
ดังนั้นทางเราจึงได้นำข้อมูลที่ทาง N.K.CAR PLAZA และ นิตยสารกรังด์ปรีซ์ รวมกันจัดทำมาเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงรายละเอียด และข้อแนะนำที่ถูกต้องในการซื้อรถมือสองทั่ว ๆ ไป ท่าน จะได้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคในการซื้อรถมือสอง และวิธีตรวจเช็กรถใช้แล้วเฉพาะหลักสำคัญ ๆ แบบง่าย ๆ ใช้คำศัพท์ที่ไม่เป็นทางการมากนัก เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ไม่ยากนัก
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจเช็กโครงสร้าง
ก่อนที่ท่านจะซื้อรถมือสอง ให้ดูสภาพของโครงสร้างภายนอกของตัวรถก่อน จากด้านหน้าไป จรดด้านท้ายรถ สังเกตตามตะเข็บรอยต่อของหลังคา ขอบกระจกหน้า-หลัง จากนั้นเปิดฝากระโปรงหน้าดูที่คานหม้อน้ำทั้งด้านและด้านล่าง ขายึดกันชนที่ต่อเชื่อมมาจากแชสซีส์ ดูตะเข็บรอยต่อภายในห้องเครื่อง ให้สังเกตดูว่ามีร่องรอยของความเสียหายหรือไม่ เพราะรถที่ถูกชนอย่างหนักพวกรอยเชื่อมหลังจากซ่อมมาแล้ว มักจะไม่เหมือนกับที่มาจากโรงงาน อันนี้คงต้องใช้การสังเกตดูหลาย ๆ คันมาเปรียบเทียบกัน และรถที่ถูกชนมาหนักพวกนี้เวลาที่ใช้งานไปนาน ๆ มักจะพบปัญหาตามมา และในบางครั้งศูนย์ของรถอาจจะคลาดเคลื่อนมากจนเกินที่จะแก้ไขได้ด้วย แต่ถ้าหากมีร่องรอยบ้างไม่มากนัก ก็แสดงว่ารถคันนี้มีการซ่อมแซมจากการชนมาบ้างแล้ว แต่ไม่หนักหนา หรือถ้าไม่พบเลยก็จะเป็นอันดีที่สุด
การดูด้านหลังก็ให้ดูเหมือนด้านหน้า แต่โครงสร้างส่วนหลังนี้มีความสำคัญน้อยกว่าส่วนหน้า ถ้าจะให้เปรียบเทียบโครงสร้างของรถกับโครงสร้าง ของคน ก็คงจะเปรียบได้กับกระดูกที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ร่างกายของเราสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ถ้าเขาเกิดอุบัติเหตุขาหัก ก็จะทำให้เดินกะเผลกเสียศูนย์ เดินแล้วไม่ปกติ เป็น ต้น ซึ่งก็เหมือนกับรถยนต์ หากเสียศูนย์ จนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เมื่อเบรกอย่างกะทันหันรถก็อาจหมุนได้ หรือขณะขับขี่ผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขังรถก็อาจลื่นไถลได้ง่ายแม้จะไม่ได้เบรกก็ตาม
โครงสร้างของรถยนต์นั้นหลายส่วนสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ และก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซ้บซ้อนมากจนไม่มีใครนิยมทำกัน อย่างบังโคลนหน้า ฝาประโปรง ประตู สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่แทนได้ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุมา ส่วนแก้มหลังที่ต่อกับเสาหลังรถหรือเฟรมตัวถังกับเสาประตู เป็นชิ้นส่วนที่ไม่นิยม เปลี่ยนกัน ด้วยขั้นตอนความยุ่งยากและความแข็งแรงของส่วนนั้นที่จะลดลงหลังจากทำการซ่อมไปแล้ว จึงไม่เป็นที่นิยมของอู่ซ่อมจนพอจะเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงควรจะต้องดูที่บริเวณนี้ให้ดี
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจเช็กสภาพตัวถังภายนอกและสีรถ
ลำดับถัดมาเป็นเรื่องของสภาพตัวถังภาย นอก ให้ดูว่าสภาพของสีรอบๆ ตัวรถว่ามีการบวมปูดของสีหรือสีซีดด่าง ผุเป็นสนิม มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำสีนั้นแต่ละส่วน แต่ละบริเวณนั้นเช่น บังโคลน ค่าทำสีชิ้นละ 2,000-3,000 บาท ถ้าต้องทำสีมากหลาย ๆ จุดคำนวณดูแล้วค่าทำสีจะสูงมาก ก็ไม่ไหวเหมือนกัน
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจเช็กเครื่องยนต์
คราวนี้ก็ว่าด้วยเรื่องเครื่องยนต์กลไกต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันนี้รถญี่ปุ่นจะมีเครื่องใช้แล้วจาก ญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายมากมายและหาง่ายก็ตาม แต่ราคาของเครื่องยนต์ก็เป็นเรือนพันเรือนหมื่นจึง ควรตรวจเช็กอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น จากนั้นเมื่อสตาร์ทเครื่องแล้ว ให้ดูว่าเครื่องยนต์เดินเรียบหรือไม่และให้ฟังดูว่ามีเสียงอะไรผิดปกติหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน มีเสียงดังแต็ก..แต็ก ของวาล์วหรือไม่ หรือเสียงดังกั๊ก ๆ ที่เกิดจากแคมชาฟท์หรือเพลาข้อเหวี่ยง สลักลูกสูบหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเครื่องยนต์มีปัญหาใหญ่แน่ ๆ ต่อมาให้ลองฟังดูว่ามีเสียงของลูกปืนไดชาร์จไดสตาร์ทด้วย
จากการฟังก็มาถึงการใช้วิธีดมกลิ่นที่ท่อไอเสียดูถ้ามีกลิ่นไม่ฉุนมากนักก็แสดงว่าเผาไหม้ได้ หมด แต่ถ้ามีกลิ่นฉุนรุนแรงหรือมีควันสีดำออกมาเวลาเร่งเครื่องก็แสดงว่าเผาไหม้ไม่หมดเครื่อง ยนต์ไม่สมบูรณ์ และรถคันนั้นจะกินน้ำมันมากกว่าปกติอีกด้วย หรือถ้าเป็นควันดำสีขาวไหลออก ทางปลายท่อ ยิ่งมีปริมาณมากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่าเครื่องหลวมมากเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 4 ตรวจเช็กระบบแอร์
ตรวจเช็กตู้แอร์ดูว่ามีเสียงของพัดลมดังผิดปกติหรือไม่เสียงของคอมแอร์ดังขึ้นมาไหม ซึ่งทดลองได้ไม่ยากนัก แค่ปิด-เปิดแอร์ แล้วฟังเสียงดู ถ้ามีเสียงดังตอนเปิด และเงียบลงตอนปิด ก็แสดงว่าคอมแอร์เริ่มมีปัญหาแล้วล่ะ
ขั้นตอนที่ 5 ตรวจเช็กระบบเกียร์
สำหรับระบบเกียร์นั้นมีวิธีการตรวจเช็กแบบง่ายๆ รถจอดอยู่กับที่ก็สามารถตรวจได้ ถ้าเป็น เกียร์อัตโนมัติให้ลองเข้าเกียร์ D ดูว่ามีการกระตุกที่รุนแรงไหม โดยใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกเอาไว้แล้วใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งลงไปเรื่อยๆ ถ้ารอบอยู่ที่ประมาณ 2,000 รอบ/นาที ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ารอบเลยขึ้นไปถึง 2,500-3,000 รอบขึ้นไป ก็แสดงว่าชุดคลัตช์เริ่มลื่นแล้วซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมนั้นสูงมาก ตั้งแต่ 20,000 ถึง หลักแสนแล้วแต่อาการ
เกียร์ธรรมก็เช่นกัน ให้ติดเครื่องและเข้าเกียร์หนึ่งโดยใช้เท้าขวาเหยียบเบรกเอาไว้และค่อยๆ ปล่อยคลัตช์ดู ถ้าเครื่องดับแสดงว่าคลัตช์ยังดีอยู่แต่ถ้าเครื่องยังไม่ดับก็เป็นอันว่าชุดคลัตช์กลับบ้านไปแล้ว
ขั้นตอนที่ 6 การตรวจเช็กสภาพห้องโดยสาร
การตรวจสอบภายในห้องโดยสารให้ตรวจเช็กอย่างละเอียดว่าระบบไฟฟ้าทั้งหลาย ระบบไฟสัญญาณต่างๆ บนหน้าปัดขณะที่บิดกุญแจไปยังตำแหน่ง ON สัญญาณเครื่องหมายต่าง ๆบน หน้าปัดจะต้องมีโชว์ขึ้นมาทั้งหมด
เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติดแล้วไฟต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องดับหมด ซึ่งถ้าดวงไหนยังไม่ดับแสดงว่า ระบบนั้นต้องมีปัญหา เช่น ไฟ ABS ถ้าติดอยู่แสดงว่าระบบ ABS มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ และอาจจะต้องเสียเงินค่าซ่อมเป็นเงินหลายตังค์แน่ๆ หรือถ้าไฟ AIR BAG ติดอยู่แสดงว่าระบบ ถุงลมนิรภัยมีปัญหาแน่ส่วนในบางทีถ้าบิดสวิตช์กุญแจแล้วไฟสัญญาณบางดวงไม่โชว์ทั้งที่มีระบบนั้น ก็แสดงว่า มีการถอดหลอดออกเพื่อไม่ให้ไฟโชว์ แบบนี้ให้ระวังให้ดี
และอีกอย่างสำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ก็อย่าลืมตรวจเช็กกระจกไฟฟ้า สวิตช์ไฟระบบไฟส่องสว่าง ต่างๆ ว่าทำงานหรือไม่ ระบบเครื่องเสียงยังคงใช้ได้อยู่ไหมไม่ใช่มีไว้แค่ประดับรถให้เจ้าของที่จะซื้อเอาไว้ดูเล่นตรวจเบาะนั่งทุกตัวต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งดูอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบด้วย
ขั้นตอนสุดท้ายลองขับด้วยตัวเอง
การทดสอบขับบนถนนที่มีสภาพถนนต่างๆ หลายๆ แบบจะยิ่งช่วยให้การตรวจสอบนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงที่ทดลองขับให้พยายามฟังเสียงเครื่องยนต์ดูว่ามีอะไรผิดปกติไหม เข็มวัดอุณหภูมิความร้อนของเครื่องอยู่ในระดับปกติหรือไม่ จับอาการการทำงานของเกียร์ ซึ่งถ้าเป็นเกียร์ อัตโนมัติให้สังเกตดูว่าเกียร์เปลี่ยนครบทุกเกียร์ไหม มีการเปลี่ยนเกียร์ ที่ต่อเนี่องและนิ่มนวลหรือไม่ กระตุกมากเกินไปไหม และอย่าลืมสังเกตอีกนิดว่าเกียร์ตอบสนองทันใจไหม เพราะถ้าเร่งเครื่องแล้วรอบขึ้นไปมากแต่รถไม่ค่อยไปก็แสดงว่าชุดคลัตช์ในเกียร์นั้นคงมีปัญาหแล้วแน่ ๆ
ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาก็ให้ลองเปลี่ยนเกียร์ดูให้ครบทุกเกียร์จะได้รู้ว่าเกียร์มีปัญหาไหม ถ้าหากมีเสียงดัง แก๊ก แก๊ก...ขึ้นมา ตอนเปลี่ยนเกียร์ทั้งที่เหยียบคลัตช์สุดแล้วแสดงว่าชุดซินโครเมช เกียร์นั้นชำรุดแล้ว หรือเข้าเกียร์ยากก็อาจจะเกิดจากผ้าคลัตช์หมดหากเป็นไปได้ก็ให้คนที่ไปด้วยช่วยฟังดูด้วยว่าเกียร์ เฟืองท้าย (ในกรณีที่เป็นรถขับหลัง) ลูกปืนล้อมีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีนั่นก็จะเป็นสัญญาณเตือนว่าถ้าคุณซื้อรถคันนี้ไป อีกไม่นานคุณอาจจะต้องเสียงตังค์ซ่อม มันแน่ และยิ่งดังมากเท่าไรคุณก็อาจจะต้องเสียตังค์เร็วขึ้นเท่านั้น
เวลาวิ่งบนถนนที่ขรุขระ ให้สังเกตด้วยว่ามีเสียงผิดปกติของช่วงล่างไหม การบังคับเลี้ยวเป็นอย่างไร รถวิ่งเอียงหรือเฉไปเฉมาไหม หรือเบรกไม่อยู่ และลองเหยียบเบรกดูด้วยว่ามันอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ไม่ใช่วิ่งๆ ไปพอเบรกทีรถแฉลบลงข้างทางไปเลยและรถขับเคลื่อน ล้อหน้าให้ทดสอบเพลาขับหน้าด้วยโดยหักเลี้ยวซ้ายสุด ขวาสุดว่ามีเสียงดัง แกร็กๆ เวลาออก ตัวหรือไม่ ถ้าเสียงดังแสดงว่า เพลาขับหน้าชำรุดแล้ว
สุดท้ายให้ดูสภาพของยางที่ติดอยู่กับรถว่า มีการสึกหรอเพียงใด โดยสามารถสังเกตได้อย่าง ง่ายๆ คือให้ลองเอาเล็บจิกไปที่ดอกยาง ถ้ายางแข็งมากจนเล็บจิกไม่เป็นรอย หรือเวลาที่วิ่งแล้วมีเสียงของยางกระทบพื้นถนนที่ดังมากก็แสดงว่ายางนั้นเสื่อมสภาพแล้ว แต่ต้องแยกให้ออกด้วย ว่าเป็นเสียงยางหรือเสียงลูกปืนล้อกันแน่ ถ้ายางนั้นสึกไม่เท่ากันทั้งหน้ายางก็แสดงว่าศูนย์ล้อนั้นมีปัญหาแล้วเรื่องของศูนย์ล้อก็ต้องระวังเอาไว้ด้วย เพราะถ้าแค่ศูนย์ล้อคลาดเคลื่อนธรรมดานั้นสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าเคลื่อนจนไม่สามารถตั้งได้แสดงว่ารถคันนี้ต้องประสบอุบัติเหตุมาแน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นการดูรถยนต์มือสองอย่างละเอียดพอสมควร ซึ่งเวลาปฏิบัติจริงคงไม่สามารถทำได้ทุกข้อ แต่ถ้าไม่สนใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โอกาสจะผิดพลาดและผิดหวังก็เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและความพอใจของผู้ซื้อว่าราคากับคุณภาพเหมาะสมกันแค่ไหน ในบางครั้งจ่ายแพงกว่าอีกนิด แต่หลายๆ สิ่งครบสมบูรณ์กว่าอาจจะดีกว่าจ่ายน้อยแต่ต้องมานั่งซ่อมบานปลายกันในภายหลัง
เทคนิคการดูรถมือสอง
1. ดูตัวถัง body
- เปิดฝากระโปรงหน้ามาดูคานหน้า มีรูเบี้ยว หรือไม่คมหรือไม่
- ป้ายทะเบียนรถยับมีรอยดัดหรือไม่
- สันด้านข้างตะเข็บความนูนเสมอกันหรือไม่
- สำหรับด้านหลัง ไฟท้ายทั้ง 2 ดวงเสมอเบ้าหรือไม่
- พื้นรถด้านหลังโดยมาก ก็สังเกตุดูว่าเท่ากันหรือปล่าว
- ส่วนด้านข้าง ก็ดูเทียบสี จากโรงงานสีเดิม กับอู่สี ใช้วิธีเคาะด้วย
ที่ทำสีมาแล้วเสียงจะทึบๆ หน่อย ชิ้นที่สีเดิมจะมีเสียงโปร่งๆ จะรู้ถึงความต่าง
2. เครื่อง + ช่วงล่าง + เกียร์
- เครื่อง มีเสียงดัง หรือรอบไม่นิ่ง รอบสูงบ้างต่ำบ้างหรือไม่ มีน้ำมันไหลซึมออกมาหรือไม่
- เกียร์ ชุดส่งกำลัง คลัชต์ ถ้าเข้าเกียร์ ออกตัวแล้วสั่น หรือไม่ เข้าเกียร์ยากหรือไม่
มีเสียงดังหรือปล่าว ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ เข้าเกียร์แล้วกระตุกมากๆ หรือไม่
- ช่วงล่าง วิ่งแล้วมีเสียงดังหรือไม่
3. ภายในห้องโดยสาร
- กลิ่น มีกลิ่นอับๆ ชื้นๆ หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าน้ำเข้ารถ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แนะนำให้เอายางปูพื้นออก ดูว่าพื้นพรมมีรอยชื้นของน้ำหรือปล่าว
- ดูความเรียบร้อย ภายในต่างๆ ทั้งคอนโซล ช่องแอร์ อยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่
- แอร์ แนะให้เปิดแอร์เพื่อตรวจสอบตั้งแต่ระดับความแรงต่ำจนถึงระดับสูง
ไล่ระดับความแรงเพื่อดูแรงลม จะบอกได้ว่าแอร์ตันหรือปล่าว
หรือมีเสียงอะไรดังผิดปรกติหรือไม่ และแอร์ตัดตามปกติหรือไม่