หลังจากช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตเฉลี่ยรวมกันเพียง 1.17% แต่เมื่อผ่านเดือน ส.ค.ไปแล้ว ปรากฎว่าทั้งระบบกลับมีผลงานแย่หนักกว่าเดิม โดยโตแค่ 0.02% จากมูลค่าเบี้ยปะกันรับตรงรวม 1.33 แสนล้านบาท ทำให้ต้องไปเหนื่อยยากกว่าเดิมในช่วงอีก 3-4 เดือนที่เหลือของปี แม้ว่าช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงต่ออายุกรมธรรม์ลูกค้ารายใหญ่ของหลายแห่งก็ตาม ซึ่งหลายค่ายหวังว่าเบี้ยจะเข้ามาชดเชยโปะยอดที่หายไปก่อนหน้านั้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการประกันวินาศภัยรายหนึ่ง กล่าวว่านอกจากสาเหตุภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก บวกกับไม่มีปัจจัยบวกจากโครงการต่างๆมาสนับสนุนภาพรวมให้ธุรกิจเติบโตเหมือนที่ผ่านมาแล้ว ปัญหาหลักสำคัญสำหรับปีนี้ คือ แบงก์พาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าระดับกลาง-ใหญ่ ตัดสินใจใช้ฐานข้อมูลลูกหนี้ในมือบีบให้ลูกค้าต่ออายุกรมธรรม์กับบริษัทประกันภัยในเครือของแบงก์เอง ทั้งที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของลูกค้า แต่ก็ไม่มีทางเลือก เพื่อแลกกับเงินสินเชื่อหมุนเวียนในธุรกิจ
“ปัญหานี้กำลังแพร่ระบาดในวงการมาก บริษัทประกันภัยเครือแบงก์ในกลุ่มท็อป 10 โดยในจำนวนนี้ไม่น้อยกว่า 3 ราย มีตัวเลขเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการโยกลูกค้าเข้ามา ทำให้บริษัทประกันเดิมของลูกค้าธุรกิจหลายรายได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง เบี้ยหายกันไปต่อหน้าต่อตาหลายแห่ง จากนั้นไปปูดอยู่กับรายอื่น วิธีนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม เป็นการทำลายระบบและขาดธรรมาภิบาล แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องก็ไม่สามารถลงมาทำอะไรได้ เพราะถือว่าเป็นการแข่งขันตามกลไกตลาด”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการทำลายระบบตัวกลาง หรือนายหน้าประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยหลายแห่งในปัจจุบัน ทำตัวเป็นนายหน้าออกกรมธรรม์เอง เพื่อหวังกินรวบและสร้างตัวเลขผลประกอบการให้ออกมาดูดี แต่เมื่อเกิดเหตุจะต้องเคลมสินไหม กลับไม่สามารถให้คำปรึกษาเยียวยาลูกค้าได้ดีและมากเท่ากับนายหน้าที่เคยให้คำปรึกษาและแนะนำลูกค้าให้อย่างมืออาชีพ
ทั้งนี้ ผลประกอบการด้านเบี้ยประกันภัยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ตามรายงานข้อมูลของสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย พบว่าบริษัทประกันภัย 10 อันดับแรก กวาดเบี้ยรวมกัน 7.91 หมื่นล้านบาท จากทั้งระบบ 1.33 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 49.38% หรือเกือบ 50% ของทั้งระบบ 62 บริษัท
เบี้ยรับรวมในกลุ่มท็อป 10 ได้แก่ วิริยะประกันภัย 2.24 หมื่นล้านบาท ติดลบ 1.2% หรือหายไป 271 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน, ทิพยประกันภัย 1.16 หมื่นล้านบาท ติดลบ 3.28% เบี้ยหายไป 395 ล้านบาท, กรุงเทพประกันภัย 9.65 พันล้านบาท ติดลบ 0.22% เบี้ยหายไป 21.7 ล้านบาท, เมืองไทยประกันภัย 6.53 พันล้านบาท เติบโต 16.8% เบี้ยเพิ่มพรวด 939 ล้านบาท, สินมั่นคงประกันภัย 6.32 พันล้านบาท เติบโต 7.91% เบี้ยเพิ่ม 463 ล้านบาท
ประกันคุ้มภัย 5.63 พันล้านบาท ติดลบ 4.99% เบี้ยหายไป 295 ล้านบาท, โตเกียวมารีนประกันภัย 5.21 พันล้านบาท ติดลบ 10.71% เบี้ยหายไป 625 ล้านบาท, แอลเอ็มจีประกันภัย 3.98 พันล้านบาท ติดลบ 0.31% เบี้ยหายไป 12.5 ล้านบาท, มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ 3.95 พันล้านบาท ติดลบ 2.62% เบี้ยหายไป 106 ล้านบาท และธนชาตประกันภัย 3.74 พันล้านบาท เติบโต 1.8% หรือเบี้ยเพิ่ม 66 ล้านบาท
นอกจากกลุ่มท็อป 10 แล้ว ยังมีหลายแห่งน่าสนใจอีก เช่น อาคเนย์ประกันภัย มีเบี้ยรวม 3.08 พันล้านบาท เติบโต 17.25 หรือเบี้ยเพิ่ม 453 ล้านบาท, เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย 2.45 พันล้านบาท เติบโต 5.16% เบี้ยเพิ่มมา 120 ล้านบาท, บูพา ประกันสุขภาพ 1.86 พันล้านบาท เติบโต 30.55% หรือเพิ่มมา 436 ล้านบาท เพราะตลาดประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคตามกระแสค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับซิกน่าประกันภัย 1.48 พันล้านบาท เติบโต 9.85% หรือเบี้ยเพิ่ม 133 ล้านบาท
เจ้าพระยาประกันภัย เบี้ยรวม 1.02 พันล้านบาท เติบโต 28.07% หรือเบี้ยเพิ่ม 225 ล้านบาท เพราะโหมโปรโมทภาพลักษณ์ผ่านการโฆษณาอย่างหนัก, KSK ประกันภัย เบี้ยรวม 873 ล้านบาท เติบโต 36.99% หรือเบี้ยเพิ่ม 235 ล้านบาท สวนทางกับไอโออิ ประกันภัยที่มีเบี้ยรวม 1.73 พันล้านบาท ติดลบ 11.37% หรือหายไป 227 ล้านบาท ตามภาวะตลาด ประกันภัยรถยนต์ ที่วูบลงไปมาก ขณะที่ไทยเศรษฐกิจประกันภัย เบี้ยรวม 694 ล้านบาท ติดลบ 27.55% เบี้ยหายวับไป 264 ล้านบาท หรือมากกว่า 1 ใน 3 สะท้อนสัญญาณน่ากลัวอันตรายไม่น้อย
เบี้ยประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบ 7.86 หมื่นล้านบาท ติดลบเล็กน้อย 0.96% แต่มีไฮไลท์ที่มีการปรับเพิ่มและลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สินมั่นคงประกันภัย 5.81 พันล้านบาท เติบโต 9.2% หรือเบี้ยเพิ่ม 489 ล้านบาท, ประกันคุ้มภัย 4.44 พันล้านบาท ติดลบ 6.25% เบี้ยหายไป 296 ล้านบาท, เมืองไทยประกันภัย 3.29 พันล้านบาท เติบโต 19.89% หรือเบี้ยเพิ่มมา 546 ล้านบาท, โตเกียวมารีนประกันภัย 2.32 พันล้านบาท ติดลบ 22.29% เบี้ยหายไปอย่างน่าตกใจ 668 ล้านบาท, อาคเนย์ประกันภัย 196 พันล้านบาท เติบโต 25.64% หรือเพิ่มมา 400 ล้านบาท และไทยเศรษฐกิจประกันภัย เบี้ยรวม 434 ล้านบาท ติดลบ 38.95% หรือหายไปเกินครึ่ง 277 ล้านบาท
เฉพาะในส่วนเบี้ยรถยนต์ภาคสมัครใจ ทั้บระบบ 6.83 หมื่นล้านบาท ติดลบ 1.14% เท่ากับเบี้ยหายไป 785 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยอดขายไม่กระเตื้อง แต่มีไฮไลท์ เช่น สินมั่นคงประกันภัย 5.12 พันล้านบาท เติบโต 8.46% เบี้ยเพิ่มมา 399 ล้านบาท, ประกันคุ้มภัย 4.19 พันล้านบาท ติดลบ 6.98% เบี้ยหายไป 314 ล้านบาท, เมืองไทยประกันภัย 3.11 พันล้านบาท เติบโต 20.69% เบี้ยเพิ่มพรวด 534 ล้านบาท สวนทางภาพรวมอุตสาหกรรม, โตเกียวมารีนประกันภัย 2.23 พันล้านบาท ติดลบ 22.24% เบี้ยหายไป 638 ล้านบาท, ไทยเศรษฐกิจประกันภัย 379 ล้านบาท ติดลบ 42.92% เบี้ยหายไปอย่างน่ากลัว 285 ล้านบาท
สำหรับเบี้ยที่ไม่ใช่รถยนต์ (นันมอเตอร์) รวมทุกประเภท 5.46 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.48% หรือเพิ่มมา 794 ล้านบาท ที่โดดเด่น เช่น เมืองไทยประกันภัย 3.23 พันล้านบาท เติบโต 13.81% หรือเบี้ยเพิ่มมา 392 ล้านบาท, วิริยะประกันภัย 1.86 พันล้านบาท ติดลบ 15.13% หรือหายไป 332 ล้านบาท
เบี้ยนันมอเตอร์ที่มีการเติบโตโดดเด่น อยู่ในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ด 4.37 หมื่นล้านบาท เติบโต 2.37% นำโดยเบี้ยประกันอุบัติเหตุ (PA) และเบี้ยประกันสุขภาพ (Health) โดย PA มีเบี้ยรวม 1.59 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.35% หรือเพิ่มเข้ามา 812 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มท็อป 10 บริษัทแรก ล้วนแล้วแต่พร้อมใจเติบโตเพิ่มขึ้น มากน้อยแตกต่างกันไป ได้แก่ ทิพยประกันภัย, เอซ อินชัวรันซ์, เมืองไทยประกันภัย, สามัคคีประกันภัย, ซิกน่าประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, กรุงไทยพาณิชประกันภัย, นิวแฮมพ์เชอร์, โตเกียวมารีน และธนชาตประกันภัย
ส่วนประกันสุขภาพ 4.93 พันล้านบาท เติบโต 19.21% หรือเพิ่มขึ้น 795 ล้านบาท ท็อป 10 บริษัทอันดับแรกสำหรับเบี้ยกลุ่มนี้เติบโตกันหมด ได้แก่ บูพา ประกันสุขภาพ, ซิกน่าประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์, โตเกียวมารีนประกันภัย, สามัคคีประกันภัย, วิริยะประกันภัย, แอกซ่าประกันภัย, ทิพยประกันภัยและประกันคุ้มภัย
ดังนั้น ช่วงที่เหลือของปี ต้องลุ้นกันว่าตัวเลขเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าไร หรืออาจอยู่ในระดับทรงตัว แต่หลายฝ่ายคาดว่าเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการขาย ไม่น่าชะลอตัวไปกว่าเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น