วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถึงกับอึ้ง และ งง!! เมื่อจู่ๆ บิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บเป็นประจำหน้าตาเปลี่ยนไป แถมมี "ค่าบริการรายเดือน"

ถึงกับอึ้ง และ งง!! เมื่อจู่ๆ บิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บเป็นประจำหน้าตาเปลี่ยนไป แถมมี "ค่าบริการรายเดือน"
ถึงกับอึ้ง และ งง!! เมื่อจู่ๆ บิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บเป็นประจำหน้าตาเปลี่ยนไป แถมมี "ค่าบริการรายเดือน"
ถึงกับอึ้ง และ งง!! เมื่อจู่ๆ บิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บเป็นประจำหน้าตาเปลี่ยนไป แถมมี "ค่าบริการรายเดือน" โผล่เพิ่มขึ้นมาอีก ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ก็เกิดคำถามคาใจขึ้นทันที "นี่มันอะไร... ทำไมมาเรียกเก็บเพิ่ม" แม้ทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA จะออกมาชี้แจงดราม่าเรื่องดังกล่าวแล้วว่าไม่ได้เรียกเก็บ "ค่าบริการ" เพิ่ม แต่เป็นเงินที่เก็บอยู่แล้ว แต่คุณหรือรู้ไม่ว่า ที่เรียกเก็บค่าบริการรายเดือน นั้น เขาเก็บยังไง PEA มีรายได้จากตรงนี้เท่าไหร่ เอาเงินตรงนี้ไปทำอะไร เพราะเหตุใดถึงเรียกเก็บ แล้วทำไมต้องจ้างเอาต์ซอร์สจดมิเตอร์ นอกจากนี้ ยังเฉลยข้อเท็จ กรณีเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า "เป็นพนักงานการไฟฟ้าฯ" ไม่ต้องเสียค่าไฟจริงหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบทั้งหมด
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร กฟภ. 2 คน ที่มาช่วยไขคำตอบ เรื่องนี้ คือ นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ นายสมภพ เต็งทับทิม ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟภ.
เฉลย ทำไมบิลค่าไฟฟ้าเปลี่ยนไป
นายเสริมสกุล อธิบายว่า บิลค่าบริการเดิม จะใบเล็ก ตรงบาร์โค้ด ก็เก็บข้อมูลได้น้อย ทาง กฟภ. เองมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบบิลใหม่ ที่ขยายบาร์โค้ดเข้าไป บิลแบบใหม่ ก็ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ จึงคิดว่าควรจะใส่ข้อมูลที่ประโยชน์ต่อลูกค้า เช่น สถิติใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง ขณะเดียวกัน ในบิลใบเดิม ก็มี "ค่าบริการรายเดือน" รวมอยู่กับค่าไฟฟ้า แต่เราไม่ได้แยกออกมา เนื่องจากมีข้อจำกัดของขนาดใบเสร็จ เมื่อมีโอกาสจึงต้องการแสดงความโปร่งใสให้ประชาชนได้รับทราบ จึงได้แยกค่าใช้จ่ายตรงนี้ออกมา ยืนยันว่า"ไม่ได้มีการเรียกเก็บเพิ่มแต่อย่างใด"
ค่าบริการรายเดือน ประกอบด้วย ค่าจดหน่วย (ปัจจุบันได้ใช้ เอาต์ซอร์ส) ค่าพิมพ์บิล ค่าใช้จ่ายในการเก็บเงิน เงินค่าบริการนี้ เราเรียกเก็บในราคาที่เท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย "ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ใช้เวลาจดหน่วยเท่าใด ก็จะค่าบริการเดียวกัน" ในส่วนราคาค่าบริการรายเดือนที่เรียกเก็บนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของ "มิเตอร์" ขนาดเล็กสุดไม่เกิน 5 แอมป์ อยู่ที่เดือนละ 8.19 บาท ซึ่งผู้ที่กำหนดอัตราเรียกเก็บดังกล่าว คือ คณะกรรมการกิจการพลังงานแห่งชาติ ไม่ใช่เราคิดขึ้นเอง
รายละเอียดบิลรูปแบบใหม่
เปิดตัวเลขลงทุน กำไร PEA
ขณะที่ นายสมภพ กล่าวว่า ในแต่ละปี PEA ได้ลงทุน เฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท โดยร้อยละ 90 เป็นการลงทุนด้านระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนและทุกประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ในปี 57 ที่ผ่านมา เรามีรายได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 465,003 ล้านบาท โดยร้อยละ 97 ของรายได้ดังกล่าว จำนวน 450,633 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีรายจ่ายทั้งสิ้น 444,604 ล้านบาท โดยร้อยละ 94 ของรายจ่ายดังกล่าว จำนวน 416,655 ล้านบาท เป็นค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า (ได้แก่ กฟผ. VSPPฯ)
"ส่วน มีกำไรสุทธิปี 2557 เป็นเงิน 20,399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ โดยร้อยละ 50.25 ของกำไรดังกล่าว จำนวน 10,250 ล้านบาท PEA ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้กระทรวงการคลัง" ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟภ. กล่าว
ค่าบริการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าใช้ไฟมากหรือน้อย
แจงรายละเอียดค่าบริการรายเดือน
นายสมภพ กล่าวว่า “ค่าบริการรายเดือน” เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าฐาน ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศใช้ในปัจจุบันภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการอ่านหน่วย การจัดทำใบแจ้งค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการเก็บเงิน ที่ PEA จะต้องดำเนินการกับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายทุกเดือนไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม โดยมีอัตราแตกต่างกันตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า PEA จัดเก็บ “ค่าบริการรายเดือน” จากผู้ใช้ไฟฟ้า 17.68 ล้านราย แบ่งเป็น
บ้านอยู่อาศัยติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน เรียกเก็บ 8.19 บาทต่อเดือน มีผู้ใช้ไฟฟ้า 10.05 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เป็นเงินประมาณ 82 ล้านบาทต่อเดือน
บ้านอยู่อาศัยติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ หรือใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน เรียกเก็บ 38.22 บาทต่อเดือน มีผู้ใช้ไฟฟ้า 5.87 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 33 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เป็นเงินประมาณ 224 ล้านบาทต่อเดือน
ธุรกิจ อุตสาหกรรม และอื่นๆ มีผู้ใช้ไฟฟ้า 1.76 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 119 ล้านบาทต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายที่รวมอยู่ในค่าบริการ
ยืนยันจัดค่าบริการ โปร่งใส เป็นธรรม
นายเสริมสกุล กล่าวต่อว่า ค่าบริการดังกล่าว ถือเป็นค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้ใช้ทั่วประเทศ เพราะบางทีเราต้องเดินทางไปไกล ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากและแพงกว่านี้ แต่ทางคณะกรรมการกิจการพลังงานแห่งชาติได้กำหนดให้ใช้ค่าดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ย หากบ้านหลังไหนไม่ได้ใช้ไฟเลยหรือใช้ไฟน้อย ก็จะถูกเรียกเก็บในราคา 8 บาทกว่าๆ ส่วนตัวคิดว่านี่คือราคาเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว" ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าว
คนจดมิเตอร์ เป็น เอาต์ซอร์ส ทั้งหมด สาเหตุเพราะ...
ผู้ว่าการ กฟภ. ยอมรับว่า คนจดมิเตอร์ จะใช้ เอาต์ซอร์ส เกือบ 100% สาเหตุที่จ้างก็เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ถ้าหากเราใช้พนักงานไปจดหน่วยเอง จะมีค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นและเป็นภาระมาก 
เมื่อถามว่าแต่ละปีต้องจ่ายเอาต์ซอร์สมากน้อยแค่ไหน และการจ้างเอาต์ซอร์ส นับเป็นต้นทุนหรือไม่ เรื่องนี้ นายสมภพ ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการ จ้างเอาต์ซอร์ส ในการจดมิเตอร์ นับเป็นต้นทุนค่าบริการของ PEA จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 590 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของรายจ่ายทั้งหมด แต่ค่าบริการรายเดือนที่เก็บได้จริงในค่าไฟฟ้ามีเพียงประมาณเดือนละ 425 ล้านบาท
"ค่าใช้จ่าย outsource เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าบริการเฉพาะบ้านอยู่อาศัย คิดเป็นประมาณร้อยละ 18 ค่าใช้จ่ายอื่นในส่วนที่ PEA จดหน่วยพิมพ์บิลเก็บเงินเอง ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายพนักงาน, ค่า Hardware software ค่าเช่าวงจรดิจิตอล Lease line สำหรับการอ่านหน่วยและการประมวลผลบิล การแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า การแจ้งเตือนให้ชำระเงิน ค่าวัสดุใช้ไป เช่น ใบแจ้งค่าไฟฟ้า หนังสือเตือน ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ค่าไปรษณีย์ เป็นต้น รายได้ทั้งหมด PEA ได้ส่งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทุกรายการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตรวจสอบก่อนการกำหนดใช้เป็นค่าบริการแล้ว" นายสมภพ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กฟภ. ยังกล่าวว่า การจ้างเอาต์ซอร์ส ใช้จ่ายเงินน้อยกว่าใช้พนักงานของเราเอง เนื่องจากเราได้มีการควบคุมจำนวนพนักงาน อีกทั้งลูกค้าของเรามีมากถึง 18 ล้านราย เราเองต้องการใช้พนักงานให้เต็มประสิทธิภาพ ถ้าจะมี "พนักงานจดหน่วย" ก็จะต้องมีสิทธิ สวัสดิการ เงินเดือน จะมีเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ทั้งนี้ ทั้งบรัษัท เรามีพนักงานประมาณ 28,000 คนทั่วประเทศ ขณะที่การจ้างเอาต์ซอร์ส ถือเป็นเรื่องปกติ ในการทำธุรกิจ
แจกแจงให้เห็นรายละเอียดชัดเจน 
ไม่จริง คนทำงานการไฟฟ้าฯ ใช้ไฟฟรี! 
ที่ผ่านมา มีคำพูดว่า "พนักงานการไฟฟ้าฯ ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ" ผู้ว่าการ กฟภ. ยืนยันว่า "เรื่องนี้ไม่จริงเลย ยังคงต้องจ่ายตามปกติ บ้านผมยังต้องจ่ายตามปกติเหมือนกับประชาชนทั่วไป"
สุดท้าย ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ก่อนอื่นก็อยากจะขอโทษประชาชน ที่แยกค่าใช้จ่ายออกมาทำให้หลายคนตกใจ แต่ที่ทำเพราะมีเจตนาดี มีความโปร่งใสให้เห็น ถ้าเกิดความไม่เข้าใจไปบ้าง ก็ขออภัย ณ ที่นี้ด้วย โดยยืนยันว่าไม่ได้เก็บเงินเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ขณะที่นายสมภพ เสริมว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ การดำเนินงานทุกอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/508767

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น