อากาศร้อนๆ วันนี้ ASN Broker นำความรู้ดีๆกลับมาฝากเหมือนเคย โดยวันนี้ นำทริค การขับรถที่จะทำให้ประหยัดน้ำมันมากที่สุดหรือสึกหรอน้อยที่สุด เอ๊ะฉันก็ขับรถมานานแล้วนายเป็นใครยังจะมาสอนกันขับรถอีก อย่าถึงขนาดนั้นเลยนะครับไม่บังอาจหรอก ก็อย่างว่าถ้าผมเป็นพวกเศรษฐีมีเงินขับรถคันโตๆเครื่องยนต์ใหญ่ๆราคาน้ำมันก็คงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใดหรืออยากเปลี่ยนรถใหม่ตอนไหนก็ได้ แต่บังเอิญว่าผมดันเกิดมาจนน้ำมันแต่ละหยดจึงมีค่ามากและอยากใช้รถนานๆเพราะไม่มีเงินถุงเงินถังที่จะไปเปลี่ยนคันใหม่ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีที่จะให้รถที่มีอยู่ได้ใช้งานอย่างประหยัดและทนทานให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปให้มากที่สุด จริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับหรือต้องปิดบังอะไรเลยยิ่งบางเรื่องเขาพิสูจน์กันมาแล้วว่าเป็นจริงครับเพียงแต่นำมาเล่าสู่กันฟังสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบหรือเคยทราบแล้วแต่ลืมหรือท่านที่อาจจะยังไม่รวยนัก(ไม่ทราบว่ามีหรือเปล่าในที่นี้)อยากประหยัดเหมือนผมครับ ทีนี้ก็มาดูกันว่าผมทำอะไรบ้าง
1.อันดับแรกก็เริ่มจากการขั้นตอนเติมน้ำมันก่อน ก็มาจากหลักวิทยาศาสตร์ชั้นประถมเรื่องการขยายตัวของมวลสารที่แปรผันตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น พูดง่ายๆคือถ้าอากาศร้อนก็จะทำให้อะไรๆมันขยายตัวนั่นเองรวมทั้งน้ำมันด้วย ดังนั้นการเติมน้ำมันจึงควรเติมเวลาที่อากาศเย็น เวลาที่ดีที่สุดคืออยู่ในช่วง 00.00-06.00 น.ครับ รองลงมาก็ช่วง 22.00-00.00 น.และช่วง 06.00-09.00 น. สรุปคือ ตั้งแต่ สี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าคือช่วงเวลาที่เติมน้ำมันแล้วจะได้ปริมาณมากกว่าช่วง 09.00-22.00 น.เพราะว่าน้ำมันจะยังคงรูปแบบอยู่หรือขยายตัวเพียงเล็กน้อยซึ่งจะประหยัดกว่าช่วง 09.00-22.00 น.อยู่ 2-5เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เช่น ช่วง 09.00-22.00 น.เติมเต็มถัง 40ลิตร แต่ถ้าเติมช่วง 00.00-06.00 น.เต็มถังจะประมาณ 37.5-38.5 ลิตร และถ้าเติมช่วง 22.00-00.00 น.หรือ 06.00-09.00 น.เต็มถังก็แค่ 38-39 ลิตร ก็ลองคำนานดูราคาน้ำมันปัจจุบันดูเองครับว่าประหยัดได้กี่บาทกี่เปอร์เซ็นต์ คนส่วนมากมักจะเติมน้ำมันหลังเลิกงานก่อนเข้าบ้านช่วง 17.00-20.00 น.อันนี้ถ้าเป็นคนช่างสังเกตุหน่อยจะพบว่าตอนเช้าขีดระดับน้ำมันจะตกลงต่ำกว่าตอนที่มาจอด และถ้าเติมตอน 06.00 น.(แต่ไม่เต็มถัง)ขับไปทำงานตอนเที่ยงจะออกไปทานข้าวจะพบว่าขีดระดับจะสูงขึ้นกว่าตอนที่มาจอด อันนี้ผมก็ลองทำแล้วพบว่าเป็นจริงทุกประการ ที่สำคัญคือเวลาเติมน้ำมันเด็กปั๊มมักจะขี้เกียจทอนเศษเงินจึงมักกดยัดเยียดแก๊กๆๆๆๆจนล้นหรือจนพอใจโดยที่จ้าวของรถก็ไม่สนใจ เช่นที่ 487บาทหัวเติมก็ตัดแต่เด็กปั๊มมักจะเข้นให้ถึง 500 บาทเป็นต้น อย่าลืมว่าถังน้ำมันจะมีรูหายใจหรือรูระบายแรงดันในถังการเติมน้ำมันมากเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆเพราะพอมันขยายตัวน้ำมันก็จะถูกปล่อยทิ้งออกไปตอนที่รถวิ่งหรือกระแทก อันนี้ควรสนใจกันบ้างเติมแค่หัวจ่ายตัดหรือเลยไปไม่เกิน 5 บาทก็ยังไม่เสียหาย เพราะจุดนี้เป็นจุดที่เสียหายมากๆเลยกับการเติมน้ำมันมาปล่อยทิ้งเจ้าของปั๊มได้กำไรจากยอดขายที่สูงขึ้น แต่เราขาดทุนเพราะเติมน้ำมันมาทิ้งประมาณครึ่งลิตร
2.ลำดับต่อมาก็มาที่ขั้นตอนการสตาร์ทรถและอุ่นเครื่อง ทำไมต้องอุ่นเครื่องก็เพราะว่าเครื่องยนต์ที่ดีและสึกหรอน้อยที่สุดประหยัดที่สุดจะทำงานอยู่ในช่วง 90-95 เซลเซียส แต่ด้วยความเร่งรีบของสังคมปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่มักจะขึ้นรถสตาร์ทเครื่องติดแล้วก็ขับออกไปเลยขณะที่เครื่องเย็นอยู่การหล่อลื่นจึงยังไม่สมบูรณ์ทำให้ต้องใช้กำลังฉุดลากมากกว่าปกตินอกจากจะเปลืองน้ำมันแล้วยังสึกหรอมากด้วย บางคนก็ใจเย็นเหลือเกินติดเครื่องทิ้งไว้นาน 4-5นาทีกว่าจะออกรถซึ่งก็อาจจะเกินความจำเป็นไปหน่อยมันดีต่อเครื่องยนต์แต่ก็สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยใช่เหตุ และวิธีที่เหมาะสมของการอุ่นเครื่องคือ ต้องปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดก่อนสตาร์เครื่อง(ลดโหลดของเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุด)และต้องอุ่นเครื่องไว้ 30-60 วินาทีในหน้าร้อนหรือ 45-90 วินาทีในหน้าหนาวหรืออากาศเย็นให้เข็มความร้อนขึ้นมาถึงขีดต่ำสุดก็เพียงพอแล้วจากนั้นจึงค่อยเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการ บางคนจะถามว่าแล้วขับมาจอดซักพักเครื่องยังร้อนอยู่เวลาจะขับอีกต้องอุ่นเครื่องหรือเปล่า อันนี้ก็ถือว่ายังจำเป็นอยู่เพื่อให้เวลากับน้ำมันหล่อลื่นที่ค้างอยู่ในส่วนต่างๆของระบบที่เริ่มมีความแตกต่างกันของอุณหภูมิกันแล้วได้กลับไปหมุนวนถ่ายเทความร้อนซึ่งกันและกันเพื่อจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง เพียงแต่ระยะเวลาในการอุ่นเครื่องใช้แค่ 10-15 วินาทีก็เพียงพอแล้ว
3.การออกตัว หลายคนยังเป็นประเภทถ้าไม่ได้ยินเสียงล้อบดถนนตอนออกตัวแล้วไม่สบายใจ การออกตัวเป็นหัวใจสำคัญของการประหยัดและลดการสึกหรอด้วยเช่นกัน เพราะเกียร์ 1 คือเกียร์ที่กินน้ำมันมากเป็นอันดับสองรองจากเกียร์ถอยหลัง เพราะต้องใช้แรงฉุดอย่างมหาศาลที่จะลากตังถังจากหยุดนิ่งให้เคลื่อนตัว การออกตัวแรงๆนอกจากจะเปลืองเชื้อเพลิงแล้วยังสึกหรอมาด้วยทั้งยางและเครื่องยนต์ ดังนั้นการออกตัวที่ดีจึงควรทำอย่างนิ่มนวลที่สุด เกียร์ออโต้ก็ควรค่อยๆปล่อยเบรคและกดคันเร่งเบาๆอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความเร็ว ส่วนเกียร์ธรรมดาก็ค่อยไปล่อยครัชท์แล้วกดคันเร่งเลี้ยงรอบเครื่องไว้ที่ 1000-1200 รอบ ทำได้ดังนี้ก็จะนิ่มนวลประหยัดและสึกหรอต่ำ ไม่ควรออกตัวด้วยเกียร์ 2 มันให้อัตราเร่งสูงกว่าก็จริงแต่การจ่ายน้ำมันก็มากไม่ต่างจากเกียร์ 1 เท่าไหร่แต่ต้องแลกมาด้วยความสึกหรอของเครื่องยนต์ที่มหาศาลเครื่องจะหมดกำลังอัดเร็วกว่าปกติมาก สุดท้ายก็ยิ่งเปลืองน้ำมันแถมควันกลบตูดอีกต่างหาก ไม่นานก็ต้องบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งจะเร็วกว่าพวกที่ใช้ตามปกติเป็นแสนโลหรือกว่า 2ปีเลยทีเดียว(เสียตังค์โดยใช่เหตุ)
4. การขับขี่ หลังจากออกตัวมาแล้วก็ต้องเร่งเครื่อง เกียร์ออโตก็ได้พูดไปแล้วคือกดคันเร่งลงอย่างนิ่มนวลต่อเนื่องและสม่ำเสมอและควรใช้ O/D ในความเร็วสูงซึ่งจะทำให้รอบต่ำลงมาช่วยประหยัดน้ำมัน ส่วนปุ่ม ETC นั้นถ้าไม่ได้เข่งกับใครก็ไม่ควรจะใช้บ่อยนักเพราะมันก็คือการลากเกียร์นั่นเองซึ่งจะทำให้เกิดการสึกหรอมากขึ้น เปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นก็ยังส่งผลต่ออายุงานของเกียร์ด้วย ที่นี้มาว่ากันที่เกียร์ธรรมดา การเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นควรจะทำให้เร็วที่สุดและไปถึงเกียร์สูงสุดไวที่สุดโดยการใช้รอบเครื่องเป็นหลักและไม่ควรลากรอบเครื่องสูงเกินไป ดังนี้
4.1 เครื่องขนาดไม่เกิน 1800CC ควรเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นทันทีที่ 2000 รอบ ลดเกียร์ต่ำลงทันทีที่ 1000-1200 รอบ และเลี้ยงความเร็วที่เกียร์สูงสุดไว้คงที่ที่ 2000-2200 รอบ(จุดใดจุดหนึ่ง)
4.2 เครื่องขนาด 1800-2200CC ควรเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นทันทีที่ 2200-2500 รอบ ลดเกียร์ต่ำลงทันทีที่ 1200-1400 รอบ และเลี้ยงความเร็วที่เกียร์สูงสุดไว้คงที่ที่ 2200-2500 รอบ(จุดใดจุดหนึ่ง)
4.3 เครื่องขนาดมากกว่า 2200CC ควรเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นทันทีที่ 2500-2700 รอบ ลดเกียร์ต่ำลงทันทีที่ 1300-1500 รอบ และเลี้ยงความเร็วที่เกียร์สูงสุดไว้คงที่ที่ 2500-2700 รอบ(จุดใดจุดหนึ่ง)
4.4 เครื่องที่แบกหอยหรือเทอร์โบมาด้วยก็บวกจากที่กล่าวมาไปอีกไปอีก 500 รอบ
4.5 เครื่องยนต์ที่เป็นดีเซลซึ่งมีแรงบิดสูงกว่าเครื่องเบนซินก็จะใช้รอบแบบเดียวกับข้อ 4.1
4.6 เครื่องยนต์ที่เป็นดีเซลที่แบกหอยหรือเทอร์โบมาด้วยก็จะใช้รอบแบบเดียวกับข้อ 4.2
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเร็วที่เกียร์สูงสุดที่ประหยัดน้ำมันและสึกหรอต่ำสุด จะแตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทของเครื่องยนต์ ส่วนที่ทางการประชาสัมพันธ์ว่าความเร็วที่ประหยัดและสึกหรอต่ำอยู่ที่ 60-90 กม./ชม.นั้นคือรุ่นขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 1800CCและเครื่องดีเซลครับเพราะรถกลุ่มนี้คือรถที่มำจำนวนมากที่สุดในบ้านเรา ส่วนกลุ่มที่เครื่องยนต์มีขนาดใหญ่หรือติดเทอร์โบความเร็วก็จะสูงขึ้นไปตามลำดับเช่นเครื่องขนาด 2000CC ความเร็วประหยัดน้ำมัน(แต่ไม่สูงสุด)อยู่ที่ 110 กม./ชม.เป็นต้น การขับขี่ที่ดีควรรักษาความเร็วที่คงที่ไว้อย่างเสถียรภาพมากที่สุดเท่าที่ทำได้(อันนี้พวกรถที่มีการตั้งความเร็วอัตโนมัติจะได้เปรียบ)
5. ความเร็วปลายหรือความเร็วสูงสุดในการเดินทาง ถ้ามีการวิ่งระยะยาวๆไกลๆและต้องการใช้ความเร็วสูงแต่ประหยัดน้ำมันและการสึกหรอต่ำ อันนี้ต้องอาศัยธรรมชาติเรื่องแรงเสียดทานและแรงโน้มถ่วงมาช่วย ซึ่งจะใช้ได้เฉพาะรถคันโตๆน้ำหนักมากๆเท่านั้น จะมีจุดๆหนึ่งที่หน้ายางจะสัมผัสถนนเต็มหน้าพอดีและตั้งฉาก(ไม่เหมือนกับที่เห็นว่าเหมือนยางแบนตอนจอดอยู่) คือเหมือนว่าน้ำหนักตัวของรถน้อยลงนั่นคือจุดที่ก่อนที่รถจะลอยตัว(แต่ชาวบ้านมักเรียกรถลอยตัว)ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่รถยังคงเสถียรภาพการเกาะถนนอยู่ รถแต่ละรุ่นจะได้ความเร็วที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถและตัวสปอยด์เลอร์ที่ติดมา จุดนี้หาได้โดยค่อยๆกดคันเร่งเพิ่มความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงจุดๆหนึ่งจะพบว่าความเร็วรถจะเพิ่มขึ้นเองอย่างรวดเร็วจนต้องถอนคันเร่ง เช่นโดยทั่วไปรถขนาด 2000-2200CC จะอยู่ที่ 130-150 กม./ชม.เมื่อหาความเร็วดังกล่าวได้แล้วเวลาที่เดินทางก็ควรใช้ความเร็วนั้นๆ ส่วนที่บอกว่าไม่เหมาะกับรถเล็กๆนั้นก็เพราะว่าน้ำหนักรถน้อยถ้าขับเร็วก็จะเกิดแรงต้านจนหนีศูนย์ยิ่งเปลืองเชื้อเพลิงและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความเร็วที่ว่าของรถเล็กๆก็อยู่ราวๆ แค่110-120 กม./ชม.เท่านั้น ยิ่งบางคนไปติดสปอยด์เลอร์มาท่านทราบหรือไม่ว่าสปอยด์เลอร์จะเริ่มทำงานเกิดแรงกดและลมหมุนวนจนเกิดแรงส่งที่ความเร็วเกิน 120 กม./ชม.ขึ้นไป ดังนั้นการใส่สปอยด์เลอร์ในรถเล็กๆจึงเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้รถและเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ในรถเล็กนั้นนอกจากความสวยงามและประดับไฟเบรคแล้วสปอยด์เลอร์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะจะเกิดแรงหนีศูนย์ก่อนสปอยด์เลอร์จะทำงานแทนที่จะช่วยในการทรงตัวกับไปเสริมแรงส่งหนีศูนย์ไปอีก รถเล็กที่ติดสปอยด์เลอร์ในความเร็วสูงจึงควบคุมยากกว่ารถที่ไม่ติดสปอยด์เลอร์ครับ บางคนก็เถียงว่าถ้ามันไม่ดีทำไมมันติดตั้งมาจากโรงงานเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องทางธุรกิจครับแต่รุ่นเดียวกันไม่ติดก็มี ผมเคยไปซื้อรถที่บอกว่าแถมสปอยด์เลอร์ด้วยผมบอกว่าถ้าผมไม่เอาสปอยด์เลอร์นี่จะลดราคาให้ผมเท่าไหร่ คำตอบคือ 10000 บาทครับผมก็เลยให้เขาถอดออก ท่านก็ลองพิจรณาดูเองก็แล้วกันเพราะถ้าผมอยากติดจริงๆผมมาหาข้างนอกทำสีด้วยก็ไม่เกิน 5000 บาทหรอกครับ ยิ่งบางรุ่นก็บังคับมาเลยถอดไม่ได้เพราะเจาะรูไว้แต่เราเป็นคนจ่ายตังค์นะครับอย่าลืม การเดินทางไกลควรหยุดพักรถทุก 2 ชม.หรือ 200 กม.การหยุดแต่ครั้งไม่ควรต่ำกว่า 15 นาทีควรจอดในที่ร่มและเปิดฝากระโปรงหน้าไว้เพื่อให้น้ำมันเครื่อง/น้ำมันเกียร์หรือน้ำมันเบรคได้คายความร้อนจะได้กลับมามีคุณสมบัติที่ดีอีกครั้ง
6. การเบรค ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเบรคที่รุนแรงทางที่ดีควรใช้การลดความเร็วและการลดเกียร์ลงมาเรื่อยๆ พูดง่ายๆก็ใช้ความเร็วให้เหมาะสมนั่นแหละ เพราะการเบรคที่รุนแรงนอกจากการสึกหรอของระบบเบรคแล้ว ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ค้างในห้องเผาไหม้จำนวนมาก(เพราะปล่อยคันเร่งทันทีทันใด)ที่อาจจะซึมผ่านไปผสมกับน้ำมันเครื่องส่งผลให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติและส่งผลต่อการสึกหรอของเครื่องยนต์ตามมา
7. การถอยรถ ในรถเกียร์อัตโนมัติคงไม่มีปัญหาเท่าไหร่กับการถอยหลังเพราะยังไงก็ต้องหยุดรถให้สนิทอยู่แล้วจึงจะโยกเข้าเกียร์ถอยหลังได้ แต่ในรถเกียร์ธรรมดาควรทำอย่างไร สิ่งที่ควรทำก็คือทำแบบเกียร์อัตโนมัติเขาโดยเหยียบเบรคให้รถหยุดสนิทก่อน แต่ถึงแม้รถจะหยุดสนิทแล้วก็ควรทิ้งระยะเวลาไว้เล็กน้อยประมาณ 3-5 วินาทีก่อนเข้าเกียร์เพื่อให้เวลากับเพลาหรือเฟืองที่ยังมีแรงเฉื่อยอยู่ได้หยุดหมุนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเมื่อต้องหมุนไปอีกทางในทางกลับกันก็จะเกิดการสึกหรออย่างมากและยังเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นที่ต้องใช้แรงฉุดมากขึ้นหรือบางทีก็ส่งเสียงแก๊กๆออกมาทีเดียว ที่ผมทำอยู่ก็ใช้การนับในใจ 1......2.....3.....4.......5 แล้วจึงเข้าเกียร์ถอยหลังซึ่งจะไม่มีเสียงใดๆเล็ดลอดออกมา โดยทั่วไปแล้วเกียร์ถอยหลังจะมีอัตราทดและแรงมากที่สุดกว่าทุกเกียร์(มีไม่กี่รุ่นที่ทำเกียร์ 1 สูงกว่าเกียร์ถอยหลัง)ดังนั้นจึงเป็นเกียร์ที่ใช้น้ำมันมากที่สุดจึงควรนิ่มนวลในการเร่งและปล่อยครัชท์มากที่สุด
8. การจอดรถ ก่อนถึงที่หมายซัก 100-200 เมตรควรปิดAC หรือคอมเพรสเซอร์ของแอร์เหลือไว้เฉพาะพัดลมเพราะยังคงมีความเย็นในระบบอยู่ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมันแล้ว พัดลมยังช่วยเป่าไล่ความชื้นออกจากตู้แอร์ทำให้ไม่มีกลิ่นอับชื้น ความชื้นในตู้แอร์หมดไปการผุกร่อนของตู้แอร์และระบบก็ลดลง ซ้ำยังไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค-เชื้อราโดยเฉพาะเชื้อริโอจีอีโบลา(ที่กำลังดังเพราะคร่าไปหลายชีวิตแล้ว) เมื่อถึงที่หมายและรถจอดสนิทแล้วก็ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ฟังเสียงว่าพัดลมไฟฟ้าทำงานอยู่หรือเปล่าควรปล่อยให้พัดลมทำงานจนหยุดก่อนจึงดับเครื่องยนต์ อย่าลืมดึงเบรคมือขึ้นด้วยไม่งั้นมีสิทธิ์เป็นข่าวได้เหมือนกัน ที่เห็นมามากคือมักจะเบิ้ลเครื่องหรือเร่งเครื่องขึ้นไปรอบสูงๆก่อนดับเครื่องโดยเข้าใจว่าจะทำให้เครื่องติดง่ายในครั้งต่อไปอันนี้อันตรายต่อเครื่องยนต์มาก เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจะตกค้างและปนไปอยู่กับน้ำมันเครื่องทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาวะการหล่อลื่นสึกหรอมากขึ้น แถมน้ำมันที่ค้างก็เหมือนการทิ้งไปเปล่าๆ
9. ต่อมาก็เป็นเรื่องลมยาง ควรจะตรวจเช็คลมยางอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 10 วันครั้ง ที่ผมทำอยู่คือเพื่อกันลืมผมจะเช็ควันที่ลงท้ายด้วยเลขศูนย์ครับ ลมยางก็ต้องได้ตามที่บริษัทผู้ผลิตเขาแนะนำซึ่งส่วนใหญ่จะมีในคู่มือหรือบางรุ่นก็ติดไว้ให้ตามขอบประตูที่รถให้เลย ถ้าลมยางอ่อนเกินไปก็จะทำให้รถซดน้ำมันมากขึ้นและขอบยางก็จะสึกมากขึ้นอายุยางก็ลดลง แต่ถ้าแข็งเกินไปมันประหยัดน้ำมันก็จริงแต่ยางก็จะสึกตรงร่องกลางๆมากเสื่อมเร็วเช่นกันซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบไปถึงลูกหมาก ลูกปืนที่จะกลับบ้านเก่าเร็วกว่าปกติ
10. สุดท้ายก็คงเป็นเรื่องการเก็บสัมภาระไว้ในรถ ไม่ควรเก็บของไว้ในรถมากเกินไปควรเก็บที่จำเป็นจริง(แต่ส่วนใหญ่มักอ้างว่าจำเป็นทั้งนั้น) เพราะของที่ใส่ในรถก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักรถก็ทำให้กินน้ำมันโดยใช่เหตุเช่นกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆอีกเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการเดินทางเช่นการศึกษาเส้นทาง การเลือกเส้นทางในการเดินทาง ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติด(มากๆ)หรือเลือกใช้เส้นทางที่ใกล้ที่สุด เป็นต้น สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้คงบังคับให้ปฎิบัติไม่ได้หรือทำทั้งหมดก็คงยาก แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆมันก็จะเป็นนิสัยแล้วค่อยเพิ่มสิ่งที่ยังไม่ไดทำเข้าไปเรื่อยๆ สุดท้ายวันหนึ่งคุณจะพบว่าตัวเองเป็นคนขับรถที่ดี ประหยัดน้ำมันและรถที่ใช้งานอยู่ก็ทนทานไม่จุกจิกเหมือนรถข้างๆบ้านที่ออกมาพร้อมๆกัน ว่างๆก็ช่วยไปบอกต่อเขาหน่อยก็แล้วกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น