เคลมประกันอย่างมีเชิง ประมาทเลินเล่อประกันไม่คุ้มครองจริงหรือ : #ประกันภัยรถยนต์ #ต่อประกันรถยนต์ #ประกันภัยรถยนต์
เรื่อง : สุวัฒน์ สุขสัมฤทธิ์
เล่มที่ผ่านมาทิ้งท้ายไว้ว่า ต่อแต่นี้จะเน้นเอากระบวนการเคลมประกันภัยรถยนต์มาเล่าสู่กันฟัง ทั้งนี้เพื่อบรรดามือเก๋าจะได้ทบทวนความจำ ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นแนวทางให้มือใหม่ได้ศึกษาว่าจะควรทำอย่างไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนและต้องเคลมประกันภัย
โดยเฉพาะมือใหม่จากนโยบายรถยนต์คันแรกบรรดาบริษัทประกันภัยรถยนต์ต่างตาหน้าออกมาสารภาพอย่างหน้าชื่นอกดรมาว่า ทำให้สถิติการเคลมสินไหมประกันภัยพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากลัว จึงส่งผลให้หลายบริษัทต้องจัดกระบวนทัพรับมือผู้เอาประกันภัยกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ
นัยว่าบางบริษัทถึงขนาดอบรมพนักงานเคลม เพื่อให้บริการบรรดามือใหม่ป้ายแดงโดยตรง โดยตั้งสมมติฐานว่าพนักงานเคลมที่ไปให้บริการนั้น ต้องแจกแจงให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจอย่างละเอียดยิบว่า แต่ละขั้นตอนในการเคลมประกันภัยผู้เอาประกันภัยควรทำอย่างไร
เพราะถ้าปล่อยให้หลงทางหลงประเด็นเข้าใจผิดประการใดขึ้นมา ผู้ที่เสียหายย่อมเป็นบริษัทประกันภัย เพราะภาพลักษณะจะเสียหายย่อยยับ โดยด่ามา 3 วัน 3 คืน หรือวัดความยาวตัวอักษรได้หลายร้อยกิโลเมตร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏสังคมได้รับรู้เพียงแค่เสี้ยววินาทีด้วยข้อความสั้น...เข้าใจผิด
แต่อย่างว่าล่ะครับ พฤติกรรมของพนักงานเคลมที่ถูกชิพฝังหัวเอาไว้ ทำหน้าที่แค่ไปให้ถึงผู้เอาประกันภัย ณ จุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด และเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่านั้นเอง ส่วนหลังจากให้ใบเคลมต่อผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็คงปล่อยให้ผู้เอาประกันภัยงงไปไก่ตาแตกโทรฯทวงถามบริษัทโดยตรงเอาเองว่าจะทำอย่างไรต่อ
อย่างเช่นกรณีรถปิกอัพอเนกประสงค์ของเจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งได้ไปแจ้งเคลมเอาไว้ว่าฝาท้ายรถยนต์เสียหาย ปรากฏว่ามาเร็วเคลมเร็วอย่างที่โฆษณาเอาไว้ ถ่ายรูปจดรายละเอียดเสร็จสรรพส่งใบเคลมให้แล้วหายจ๋อยไปเลย
ล่วงมากกว่า 3 เดือนแล้วเจ้าของรีสอร์ตรายนั้นยังงง ๆ อยู่เลยว่าจะทำอย่างไรต่อ จนเรื่องราวล่วงรู้มาถึงผมนั่นแหละจึงถึงบางอ้อว่า บริษัทประกันภัยไม่อนุมัติเคลม อ้างว่าเกิดจากความประมาทของผู้เอาประกันภัยเอง
มาตรา 879 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในวรรคแรกบัญญัติไว้ว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้น เพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์
การที่ฝาท้ายรถยนต์ยุบ โดยลักษณะการยุบเด้งจากด้านในไปด้านนอกอย่างนี้ ฝ่ายประเมินความเสียหายของบริษัทประกันภัย ย่อมคาดการณ์ได้ว่าต้องเกิดจากการกระทำของเจ้าของรถยนต์หรือลูกจ้างอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะทำของหนักหล่นใส่หรือบรรทุกอะไรที่หนักเกินกว่าฝาท้ายรถจะรับได้ส่วนจะถูกรถยนต์คันอื่นชนไม่น่าจะใช่ เพราะถ้ารถชนลักษณะของความเสียหาย อาการยุบจะต้องเด้งจากนอกไปด้านใน
ซึ่งในภายหลังผู้เอาประกันภัยเจ้าของรีสอร์ตยอมรับว่าได้นำรถไปบรรทุกเสาเข็มและหล่นใส่ฝากระบะท้ายอย่างแรง
ดังนั้นประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันต่อไปว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือเกิดจากอุบัติเหตุในการขนย้ายวัสดุ
คุณอำนวย สุภเวทย์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประกันภัยได้ดีความถึงความประมาทเลินเล่อไว้ว่า ความประมาทเลินเล่อนั้นมี 2 ระดับคือความประมาทเลินเล่อไม่ถึงกับประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงระดับหนึ่ง และความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอีกระดับหนึ่ง
ประมาทเลินเล่อคือการกทำที่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยหรือพฤติการณ์ ส่วนความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นการกระทำที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากใช้ความระมัดระวังสักเพียงเล็กน้อย เท่านั้นก็คงคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดความเสียหายเช่นนั้นขึ้น
ที่สำคัญมีสุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งว่าเลินเล่ออย่างร้ายแรงมีผลมีผลเท่ากับจงใจกระทำความผิด (Gross negligent is held equivalent to intentional wrong)
ถ้าว่าตามการดีความดังกล่าวนี้ เจ้าของรีสอร์ตที่ผมกล่าวถึงในฐานะผู้เอาประกันภัยคงต้องจ่ายค่าซ่อมเอง เพราะเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่าร้ายแรง รู้ทั้งรู้ว่าการใช้รถไปขนย้ายเสาเข็มที่มีความหนักย่อมที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถยนต์อย่างแน่นอน
แต่อย่าเพิ่ง ซ.ต.พ. นะครับ ถ้าเอาคำพิพากษาฏีกามาเทียบเคียงก็จะพบความจริงของกฎหมายข้อหนึ่งว่า ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามมาตรา 879 ต้องเกิดเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น
บุคคลผู้ถือเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัย เช่น ผู้ขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้รับประกันภัยดังเช่นในกรณีตามคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายยกเว้นความผิดของผู้รับประกันภัย เพราะมีสุภาษิตกฎหมายกล่าวไว้ว่า “ข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด”
คำพิพากษาฎีกาที่ 1720/2639 มาตรา 879 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดของผู้เอาประกันภัย จึงต้องดีความโดยเคร่งครัด ตามมาตราดังกล่าว ผู้รับประกันภัยจะหลุดพ้นความรับผิดเมื่อความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือของผู้รับประโยชน์ เท่านั้น การที่บุตรของผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุ วินาศภัยที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัย บริษัทจำเลย จึงไม่พ้นความรับผิด
อ้าว! บุตรในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมันย่อมไม่แตกต่างไปกว่าลูกจ้างของเจ้าของรีสอร์ต งานนี้ทำไปทำมาบริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหม
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะบริษัทประกันภัยยึดหลักสุจริตใจ เชื่อว่าผู้เอาประกันภัยย่อไม่ตั้งใจให้เกิดความเสียหาย ประกอบกับค่าซ่อมไม่สูงมากนัก เอาใจลูกค้าเพื่อได้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยในปีต่อไปกันดีกว่า จึงหยวนไม่ต้องมาดีความตามตัวบทกฎหมาย
เพียงแต่ขอความกรุณาให้ผู้เอาประกันภัยทำจดหมายขออนุโลมไม่ให้นำเอาเงื่อนไขยกเว้นมาบังคับใช้ โดยเหตุที่ต้องทำจดหมายนั้นไม่ใช่ต้องทำตามกฎหมายบังคับอะไรหรอก เพียงแต่เป็นสิ่งการันตีว่าผู้จัดการสินไหมทดแทนนั้น ๆ ได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว แต่ต้องยกเว้นให้เพราะมองประโยชน์ของการตลาดเป็นหลัก
เรื่องของการประมาทเลินเล่อจึงเป็นสาระสำคัญประการแรกที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรู้เชิงเอาไว้ให้มั่น เพราะเป็นข้ออ้างยอดฮิตที่เจ้าหน้าที่สินไหมทดแทนมักจะหยิบยกมาอ้าง ไม่เบี้ยว แต่ไม่จ่ายเพราะลูกค้าประมาทเอง
เราจึงต้องมีเชิงได้กลับเอาไว้ก่อน ฉันประมาทตรงไหน !
เจอลูกนี้เข้ารับประกันซ่อมฟรีคงต้องเจรจากันหลายยก และในที่สุดบริษัทประกันภัยคงต้องหยวน ๆ ให้ เพราะบริษัทประกันภัยยุคนี้ยืดหลัก “ค้าขายดีกว่าค้าความ” ครับพี่น้อง !
ที่มา : http://www.asnbroker.co.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น