วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กปน.ยันอีก 2-3 วัน กทม.รอดวิกฤตน้ำประปาเค็มหลังฝนเท เขื่อนปล่อยน้ำช่วย

กปน.ยันอีก 2-3 วัน กทม.รอดวิกฤตน้ำประปาเค็มหลังฝนเท เขื่อนปล่อยน้ำช่วย
กปน.ยันอีก 2-3 วัน กทม.รอดวิกฤตน้ำประปาเค็มหลังฝนเท เขื่อนปล่อยน้ำช่วย

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่า การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จนเกิดภาวะน้ำกร่อยในบางพื้นที่ ขณะนี้เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดแล้ว เนื่องจากในที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ รวมถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์
ทั้งนี้ คาดว่า 2-3 วัน ระบบน้ำจะสมดุล เพราะจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าค่าความเค็มลดลงเหลือเพียง 0.25 กรัม/ลิตร ซึ่งตามปกติค่าความเค็มจะสูงได้ไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร
ผู้ว่าฯ กปน. กล่าวยืนยันว่า สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้แล้ว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าน้ำประปาจะยังคงใช้ได้ตามปกติและมีเพียงพอกับความต้องการ แต่อยากรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากยังมีความกังวลว่าในปีหน้าอาจจะเกิดวิกฤตภัยแล้งจนขาดแคลนน้ำอีก รวมถึงเป็นการช่วยเหลือภาคการเกษตร เบื้องต้น กปน.ได้วางมาตรการเสริมสำหรับปีหน้าไว้แล้ว
นอกจากนี้ กปน.ได้เปิดโครงการกิจกรรมช่วยราษฎร์ ช่วยรัฐ ช่วยประหยัด น้ำประปา รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำ 10% โดยหากใครลดการใช้น้ำได้ตามกำหนดทาง กปน.จะมีของที่ระลึกมอบให้ผู้ลดการใช้น้ำมากสุด 5 อันดับแรก
นางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. แถลงว่า ปัจจุบันมีประชาชนในพื้นที่ กทม.ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจำนวน 362 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรจำนวน 1,197 ไร่ จากปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงปัญหาน้ำเค็มจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุม กนช. วันที่ 23 ก.ค.นี้ เพื่อมาดูแลและวางมาตรการน้ำของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำจากที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ จะส่งมอบแผนจัดการน้ำทั้งหมดให้ กนช.มาวางมาตรการสู่การปฏิบัติจริง
สำหรับมาตรการประหยัดน้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเร่งทำทันทีเพื่อให้เท่าเทียมกันระหว่างคนเมืองและภาคเกษตร โดยควรเริ่มที่หน่วยงานราชการ เป็นตัวอย่างก่อน ซึ่งจะเสนอ นายกฯ ให้พิจารณา เช่น จะไม่มีการเสิร์ฟน้ำและกาแฟให้ผู้เข้าร่วมประชุม ช่วยให้แต่ละเดือนประหยัดงบเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท ส่วนภาคครัวเรือนและธุรกิจอาจนำเอาแบบไต้หวันมาใช้ เพราะมีกฎหมายคุมเข้มและถ้าใครใช้น้ำมากต้องจ่ายค่าน้ำแพง

ที่มา http://www.asnbroker.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น