วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เกียร์ออโตติดไฟแดงนานๆ เหยียบเบรกหรือปลดเกียร์ว่าง แบบไหนดีกว่ากัน #เรื่องรถน่ารู้ #ประกันภัยรถยนต์ #ต่อประกันรถยนต์

เกียร์ออโตติดไฟแดงนานๆ เหยียบเบรกหรือปลดเกียร์ว่าง แบบไหนดีกว่ากัน #เรื่องรถน่ารู้ #ประกันภัยรถยนต์ #ต่อประกันรถยนต์
เกียร์ออโตติดไฟแดงนานๆ เหยียบเบรกหรือปลดเกียร์ว่าง แบบไหนดีกว่ากัน #เรื่องรถน่ารู้ #ประกันภัยรถยนต์ #ต่อประกันรถยนต์
ดูๆ ไปแล้ว การใช้งานเกียร์ออโตที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปจากเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเรื่องของเกียร์ก็เหมือนกับการคิดล้มล้างทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ยังไงยังงั้น แนวความคิดของการใช้งานเกียร์อัตโนมัติที่แปลกแยกแตกต่างไปจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์กลายเป็นผิดไปหมดทั้งๆ ที่ความเป็นจริงสามารถกระทำได้ เกียร์ออโตที่ออกแบบให้เลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้นั้น เมื่อติดไฟแดงนานๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งวงการแนะนำให้เหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้จนกว่ารถคันข้างหน้าจะเคลื่อนตัว หากติดไฟแดงไม่นานก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดการติดแบบสาหัสสากรรจ์ เช่น ข้างหน้ามีอุบัติเหตุจนขวางช่องทางจราจร หรือฝนตกน้ำท่วมขังทำรถติดทั้งเมือง การจะมานั่งใช้เท้าขวาเหยียบเบรกยัดเกียร์ D หรือเกียร์ขับเคลื่อนเอาไว้นานจนแมงมุมเริ่มชักใย ดูไปมันช่างฝืนความรู้สึกและเต็มไปด้วยความเมื่อยขบปวดขากับความคิดดังกล่าว

แรงดันในระบบของเกียร์อัตโนมัตินั้น เมื่อเลื่อนคันเกียร์จาก N ไปที่ตำแหน่ง D จะเกิดแรงดันขึ้นเพื่อดันของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ให้มีการไหลเวียนเพื่อหล่อลื่นการทำงาน การเลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอโดยใช่เหตุ !! ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำวิธีการใช้งานเกียร์ออโต โดยมักจะบอกกันว่าตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D ขับออกจากบ้าน เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัดไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N ให้เหยียบเบรกเอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลาแม้รถจะติดโหดจนขาแทบพลิกเพราะต้องเหยียบแป้นเบรกยาวนานจนตะคริวกินขาเลือดไม่เดิน แทนที่เกียร์จะพังกลับเป็นขาของคนขับที่พังแทน เกจิในวงการบางท่านหรือนักเลงรถเจ้าของอู่ที่เชี่ยวชาญในด้านระบบส่งกำลังต่างออกมาบอกกันว่า ทอร์ค คอนเวอร์เตอร์ ในเกียร์อัตโนมัติจะหยุดส่งถ่ายแรงดันเมื่อผู้ขับขี่เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N และหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนหรือ D เพื่อขับเคลื่อน แรงดันจากระบบเกียร์จะทำงานต่อทันทีที่เข้าเกียร์ D ทำให้ภายในระบบเกียร์และวาล์วภายในมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 2-5 บาร์ สำหรับให้กำลังในการออกตัว หากทำแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอซึ่งพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริงเสมอไป

ตลอดระยะเวลาในการขับใช้งานรถยนต์ส่วนตัวของผม ซึ่งเป็นรถ BMW 318i e36 ปี 1997 ระยะเลขไมล์ที่ 197,920 กิโลเมตร เมื่อติดไฟแดงนานๆ เกิน 3-5 นาที ในบางแยก เช่น จากศรีนครินทร์ไปลำสาลีในช่วงเย็น หรือจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังแยกรัชโยธินในช่วงวันศุกร์สิ้นเดือนที่มีฝนตกหนักในตอนเย็น หรือแม้แต่แยกสาทรในช่วงเวลาเลิกงาน เมื่อผจญกับรถติดหนักติดนาน ผมใช้การเลื่อนคันเกียร์อัตโนมัติจาก D ไปที่ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถไหล เกียร์ออโตของ BMW 318i รุ่นนี้เป็นเกียร์อัตโนมัติของ GM ที่มีการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวหรือน้ำมันเกียร์ตามระยะทาง ไม่ค่อยขับแบบลากเกียร์หรือยัดเกียร์เองในโหมดแมนนวล ไม่ว่าจะติดนานแค่ 1-2 นาที หรือนิ่งสนิทลากกันยาวจนแทบจะหลับคารถ ผมมักเลื่อนคันเกียร์ไปยังเกียร์ว่างหรือ N แล้วดึงเบรกมือเพื่อพักเท้าขวา จากปี 1997 จนมาถึงปี 2015 เป็นระยะเวลา 18 ปีแล้วที่เกียร์ยังคงรับใช้ทำหน้าที่่เป็นปกติไม่มีอาการของการสึกหรอหรือลดการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น ใส่เกียร์ D หรือเกียร์ R ก็ไม่ต้องรอกันนานแบบอาการก่อนเกียร์จะพัง หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ผมคงต้องเปลี่ยนเกียร์ใหม่ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ลูกจากระยะเวลาในการใช้รถ และการเลื่อนคันเกียร์ไปมาระหว่าง D-N-R P ตลอด 18 ปี ลองคิดกันเอาเองนะครับ

เกียร์ออโตจะเกิดการสึกหรอเสียหายนั้น นอกจากการเลื่อนคันเกียร์ไป-มาซึ่งเป็นวิธีใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วที่คุณต้องเลื่อนจาก P ไป R ไป N ไปที่่ D หรือแม้แต่ D1-D2 หากพบเจอกับทางขึ้นเขาลงเนิน การสึกหรอเสียหายยังเกิดขึ้นได้จากการใช้งานที่่ผิดวิธี เช่น ไม่เคยเปลี่ยนของเหลวหล่อลื่นมานานจนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ ชอบขับแบบลากรอบลากเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองบ่อยครั้งแทนที่จะให้ ECU ของเกียร์ทำงานไปตามเรื่องตามราวของมัน รถยังไม่ทันหยุดก็ทำตัวเป็นเด็กแว้นใจร้อนรนยัดเกียร์ถอยซะแล้ว แบบนั้นแหละครับที่เป็นตัวการในการทำให้เกียร์ออโตของคุณกระจายก่อนวัยอันควร ไม่ใช่แค่การเลื่อนคันเกียร์จาก D ไป N เพื่อพักเท้าพักขาเมื่อเจอเข้ากับรถติดหนักๆ

วิธีที่ท่านผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเรื่องรถยนต์แนะนำให้คาเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกเอาไว้ก็สามารถทำได้หากคุณเป็นคนหวาดระแวงและไม่มีเงินมากพอที่จะซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ใหม่เมื่อเกียร์เกิดอาการเสียไม่ทำงาน การกระทำแบบนั้น ถึงแม้รถจะหยุดนิ่งแต่ก็มีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากความเผอเรอเมื่อน้ำหนักเท้าขวาที่กดลงไปบนแป้นเบรกเกิดอาการอ่อนล้าเมื่อยขบ ขาเกิดอาการชาหรือตะคริวกินขาโดยเฉพาะคนที่มีอายุเยอะๆ เพียงแค่ผ่อนคลายน้ำหนักที่แป้นเบรกนิดเดียว แรงหมุนของเกียร์อาจเอาชนะแรงกดแป้นเบรกที่ลดลงได้จากความเผอเรอหรือเมื่อยล้า เกียร์ออโตที่ใส่ตำแหน่ง D หรือตำแหน่งของการขับเคลื่อนก็พร้อมที่จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าทันที ผลก็คือไหลไปเสยท้ายรถชาวบ้านชาวช่องแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำให้คุณต้องเสียเงินเสียเวลาเกิดเรื่องเกิดราว หากสภาพการจราจรเข้าขั้นจลาจล ติดหนักหนาสาหัสนานหลายนาที การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก D มายังตำแหน่ง N หรือตำแหน่งของเกียร์ว่างพร้อมๆ กับการใช้เบรกมือจะช่วยทำให้คุณใช้รถได้อย่างปลอดภัย มันอาจสึกหรอบ้างตามอายุการใช้งานแต่คงไม่พังคาเท้ากันไปในบัดดลอย่างแน่นอน

จะใช้วิธีไหนเมื่อรถติดก็เลือกเอาจากความถนัดและความชอบความเชื่อนะครับ การใช้งานอันหลากหลายของเกียร์ออโตขึ้นตรงต่อการดูแลรักษาอย่างที่บอก หากไม่เคยใส่ใจเหลียวแลเปลี่ยนถ่ายของเหลวแถมยังขับแบบทำร้ายเกียร์ตลอดเวลา ต่อให้คุณเหยียบเบรกคาเกียร์ D ยามรถติดทุกครั้งตามที่เกจิบอกเกียร์ของคุณก็พังได้เหมือนกัน อยากจะบอกว่าเกียร์ออโต 7 สปีดในรถสปอร์ต AUDI R8 V10 S-Line ของท่านที่รู้จักกัน รถอายุ 4 ปี วิ่งใช้งานน้อยมากไม่ถึง 8,000 กิโลเมตร เพราะมีรถเยอะเป็นสิบคันจึงไม่ค่อยได้ขับ เกียร์มีปัญหาไม่ยอมเปลี่ยนซะแล้ว แล้วยังไงครับ เปลี่ยนเกียร์ R8 ลูกหนึ่งได้ยินราคาแล้วลมแทบใส่ครับ
จะใช้วิธีไหนก็ได้ตามแต่สะดวกไม่มีใครผิดหรือถูกต้องไปซะทั้งหมด เพียงแค่เปิดใจให้กว้างยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างดูบ้าง โลกใบนี้คงน่าอยู่ขึ้นเยอะ สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผม หากรถติดไม่นานก็ทำตามอย่างที่เกจิอาจารย์แนะนำก็คือ เหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้ป้องกันเกียร์ระเบิดเพราะแรงดันมหาโหดในระบบ และเมื่อติดหนึบเหนียวแน่นจนปัสสาวะแทบราดเหยียบเบรกต่อไปไม่ไหวแล้ว ก็ให้ใส่เกียร์ว่างหรือเกียร์ N แล้วดึงเบรกมือป้องกันรถไหลพอได้พักเท้านวดขานวดเท้าแก้เมื่อยขบก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะทำให้เกียร์กระจายก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน ขอให้มีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom 

ที่มา http://www.thairath.co.th/content/505942

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น